ปิดยอดขายปี 2566 BMW เฉือน Benz ป้องกันแชมป์รถหรูอีกสมัย

19 ม.ค. 2567 | 12:47 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2567 | 13:43 น.
1.2 k

ค่ายรถหรูต่อโปรโมชันมอเตอร์เอ็กซ์โป 2023 ยาวจนถึงต้นปีนี้ BMW ลดราคาหลักแสนบาทหลายรุ่น พร้อมรักษาแชมป์รถเซกเมนต์พรีเมี่ยมได้อีกสมัย ด้านเมอร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มโมเดลธุรกิจ Retail of the Future ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทุกดีลเลอร์ใช้โปรโมชันเดียวกันทั่วประเทศ

ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2566 ปิดตัวเลขไม่ถึง 7.8 แสนคัน ลดลงประมาณ 8% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งตํ่ากว่าเป้าหมายที่ประเมินกันไว้ว่าจะเกิน 8 แสนคัน โดยเซกเมนต์ที่ยอดขายร่วงหนักคือ ปิกอัพ 1 ตันในส่วนรถหรูยอดขายปี 2566 หดตัวเล็กน้อย และผู้ที่ขายเป็นอันดับหนึ่งยังเป็นเจ้าเก่า บีเอ็มดับเบิลยู สามารถเฉือนเมอร์เซเดส-เบนซ์ รักษาแชมป์ได้อีกสมัย โดยอ้างอิงจากยอดจดทะเบียนรถใหม่ (รย.1) ประจำปี 2566 ของกรมการขนส่งทางบก

ยอดขายรถหรูปี 2566

ยอดขาย BMW บีเอ็มดับเบิลยู (ไม่รวมมินิ) ปี 2566 ทำได้ 14,128 คัน ส่วนคู่แข่งร่วมชาติตามมาที่ 12,884 คัน (ปี 2565 ทำได้กว่า 13,000 คัน) และวอลโว่ 3,688 คัน เป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกับปอร์เช่ ที่มีรถพร้อมส่งมอบให้ลูกค้ามากขึ้น

 

โดยน่าสังเกตว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บรรดาค่ายรถหรูจากเยอรมนี ต่างทยอยปรับขึ้นราคาเป็นหลักหมื่น-หลักแสนบาท ตามภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของ 2 ค่ายใหญ่ บีเอ็มดับเบิลยู กับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังสาดโปรโมชันกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะรุ่นที่หวังยอดขาย และกำลังระบายสต๊อก

 

สำหรับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เตรียมนำโมเดลธุรกิจ Retail of the Future มาใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 โดยทุกโชว์รูมจะใช้โปรโมชัน หรือขายราคาเดียวกันทั้งประเทศ พร้อมพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้เข้ามารองรับกับรูปแบบการขายสมัยใหม่

ขณะเดียวกัน ดีลเลอร์ เองจะไม่ต้องลงทุนซื้อรถมาเก็บไว้อีกต่อไป แต่จะใช้สต๊อกกลางของบริษัทแม่ ซึ่ง ดีลเลอร์ จะทำหน้าที่เป็นผู้ปล่อยรถให้แก่ลูกค้าเท่านั้น (คล้ายๆ เป็นเอเจนต์ และรับค่าปล่อยรถต่อคัน) และจากโมเดลธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเริ่มทำให้ลูกค้า เห็นแคมเปญของหลายๆ ดีลเลอร์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ว่าเป็นราคาพิเศษช่วงสุดท้าย หรือสามารถให้ข้อเสนอที่หนักหน่วงก่อนที่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทุกโชว์รูมจะต้องขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ

ปิดยอดขายปี 2566 BMW เฉือน Benz ป้องกันแชมป์รถหรูอีกสมัย

โดยโมเดลที่ลดราคาหนักๆ คือ Mercedes Benz E-Class W213 ล็อตสุดท้าย ก่อนที่โฉมใหม่ W214 รุ่นประกอบในประเทศจะทำตลาดในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ดังนั้นปลายอายุโมเดลของ E 300 e AMG Dynamic จึงจัดส่วนลดสูงสุด 6 แสนบาท (ราคาขาย 4.02 ล้านบาท)

 

เช่นเดียวกับ GLA 200 AMG Dynamic ที่สต็อกเหลือไม่มาก เพราะลดราคาถึง 3.5 แสน บาท เป็น 2.19 ล้านบาท ก่อนที่รุ่นใหม่ Facelift จะเปิดตัวใน เดือนกุมภาพันธ์นี้ (ตามแผนเดิมต้องเปิดตัวปลายปี 2566)

 

ส่วนรถปลั๊ก-อินไฮบริด อย่าง C-Class และ GLC ต่างมีส่วนลดกว่า 2 แสนบาท หรือลูกค้าสามารถเลือกเป็นแพกเกจทางการเงินที่สะดวกได้ ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ ต้องลงมา กระตุ้นยอดขายรถสองรุ่นนี้อย่างจริงจัง นอกเหนือไปจากการเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ เครื่องยนต์ดีเซลไมลด์ไฮบริด เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าที่ไม่นิยมรถไฮบริดเสียบชาร์จไฟ

 

ด้าน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์นี้ เตรียมจัดงานแถลงผลประกอบการ และแผนงานในปี 2567 แต่ที่ผ่านมายังเห็นการทำโปรโมชันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะรถอนุกรมเล็ก หรือรถระดับเริ่มต้น Entry Level ทั้ง BMW X1 โฉมใหม่ sDrive 20i M Sport (ราคา 2.619 ล้านบาท) ลดราคา 3.5 แสนบาท BMW 220i Gran Coupe M Sport (ราคา 2.319 ล้านบาท) ลดราคา 4 แสนบาท ไปจนถึงซีรีส์ 3 ปลั๊ก-อิน ไฮบริด BMW 330e M Sport (ราคา 3.019 ล้านบาท) ได้ส่วน ลด 4 แสนบาท

แม้การอัดโปรโมชันส่งเสริมการขายจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยผลักดันให้คว้าแชมป์รถหรูมา 4 ปีซ้อน แต่บีเอ็ม ดับเบิลยู ยังเผยความลับว่า การทำตลาดรถหรูระดับบน กลุ่ม Luxury Class อย่างเข้มข้น (เน้นขายฟลีต) รวมถึงการเปิดตัวรถ สายพันธุ์ใหม่ๆ ทำ ให้บริษัทมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ปิดยอดขายปี 2566 BMW เฉือน Benz ป้องกันแชมป์รถหรูอีกสมัย

บีเอ็มดับเบิลยู รายงานว่า รถยนต์ในกลุ่ม Luxury Class ที่ประกอบด้วย ซีรีส์ 7, ซีรีส์ 8, X7 และ XM ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดประเทศไทย ด้วยยอดจดทะเบียนระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เติบโตถึง 43%