ตลาดมอเตอร์ไซค์ปี 2567 คุมเข้มสินเชื่อ - NPL ลดลง

07 ม.ค. 2567 | 12:56 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2567 | 13:20 น.
1.4 k

สมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย คาดตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2567 ทรงตัว และการปล่อยสินเชื่อรถใหม่จะอยู่ในระดับ 8 หมื่นล้านบาท 

ตลาดมอเตอร์ไซค์ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.66) ทำได้กว่า 1.72 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.67 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นั่นหมายความว่ายอดขายทั้งปี มีโอกาสปิดที่ 1.85 -1.9 ล้านคัน เติบโตกว่าปี 2565(1.8 ล้านคัน)

 

ทั้งนี้ จากการประกาศของสคบ.ในการคุมสัญญาเช่าซื้อรถ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกิน 23% (เริ่มวันที่ 9 มกราคม 2566) ส่งผลให้ไฟแนนซ์ต่างคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อตรวจสอบเครดิตบูโร เครดิตสกอร์ และการให้พนักงานลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อ จึงคาดว่า สัดส่วนของหนี้เสีย (NPL) จะอยู่ที่ประมาณ 5-7 % และแนวโน้มในปี 2567 คาดว่าจะลดลงหรือใกล้เคียงกับปี 2566

ตลาดมอเตอร์ไซค์ปี 2567 คุมเข้มสินเชื่อ - NPL ลดลง

แหล่งข่าวจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์ในปี 2567 คาดว่าจะทรงตัว ทั้งนี้ต้องดูปัจจัยทางด้านภาพรวมเศรษฐกิจตัวเลข GDP ยกตัวอย่างหาก ภาคการเกษตรเติบโต จักรยานยนต์ก็จะโตด้วย แต่หากกลุ่มที่เติบโตเป็นท่องเที่ยว หรือ การส่งออก ก็ไม่ส่งผลกับตลาดรถจักรยานยนต์เท่าไรนัก 

 

ส่วนทางด้านสินเชื่อรถจักรยานยนต์ คาดว่าจะทรงตัว โดยประเมินว่าการปล่อยสินเชื่อรถใหม่จะอยู่ใกล้เคียงกับปี 2566 ที่ 8 หมื่นล้านบาท 

 

"ยอดการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในปี 2567 คาดว่าจะยังเติบโตใกล้เคียงกับปี2566โดยในปีนี้ แม้ยอดขายจะโตแต่การอนุมัติสินเชื่อลดลงจาก 60-70% เหลือ 50% และในภาพรวมยอดการปล่อยสินเชื่อลดลงประมาณ 10-15 % ในส่วนของผู้ประกอบการยังคงดำเนินงานอย่างรัดกุม เข้มงวด รวมไปถึงเฝ้าระวังเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ตลาดโตว่าเป็นกลุ่มนอกระบบหรือไม่ อันนี้ก็ยังคงต้องจับตาดู โดยเราคาดว่าในช่วงกลางปีหน้าจะประเมินสถานการณ์ตลาดได้อย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง”

โดยที่น่าสังเกตจากยอดขายรถจักรยานยนต์ในปี 2566 ที่เติบโต สวนทางกับสภาพความเป็นจริง (ทั้งกฎหมาย สคบ. การคุมเข้มสินเชื่อ สถาพเศรษฐกิจ และหนี้ครัวเรือนสูง) ซึ่งสมาคมฯ กังวลใจเกี่ยวกับแกงค์ฉ้อโกง อย่างการรับจ้างออกรถจักรยานยนต์หลังจากนั้นก็ส่งไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน หรืออีกกลุ่มหนึ่งก็คือไม่จ่าย ไม่ผ่อนชำระและปล่อยให้รถถูกยึด 

 

หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการประมูล ซึ่งปัจจุบันตัวเลขรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในลานประมูลก็เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว และจะส่งผลกระทบต่อราคา และผู้ประกอบการทั้งระบบ 

 

"ยอดขายรถจักรยานยนต์ที่โต หากเป็นการปล่อยสินเชื่อในระบบก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ไม่มีปัญหา ยกตัวอย่างตอนนี้ที่มีอัตราการเติบโตสูงคือ สินเชื่อดิจิทัล Digital Lending ที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย และเป็นสินเชื่อที่เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยหรือคนที่ต้องการใช้เงินเร่งด่วนเข้าถึงสินเชื่อเงินด่วนได้โดยง่าย อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรากังวลคือ กลัวเป็นเงินที่มาจากนอกระบบ หรือเป็นแกงค์ต่างๆที่ไม่สามารถตรวจสอบได้" แหล่งข่าวกล่าว