กระแสรถ EV จีนบูมในไทย จ่อเขย่าบัลลังก์เจ้าตลาดค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น

10 ก.ค. 2566 | 15:26 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2566 | 10:56 น.
1.0 k

สื่อนอกเผยกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบรนด์จีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถครองแชมป์ในตลาดรถ EV ของไทยในปัจจุบัน จ่อเขย่าบัลลังก์เจ้าตลาดค่ายรถญี่ปุ่นด้วยการชิงเค้กก้อนใหญ่ใน 10 ปีข้างหน้า

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานสถานการณ์ ตลาดยานยนต์ในประเทศไทย โดยระบุว่า บรรดา บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน อาทิ บีวายดี (BYD) และเกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ได้เข้ามาลงทุนในไทยสูงถึง 1.44 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2563 และกำลังคุกคามสถานะเจ้าตลาดรถยนต์ในภาพรวมของไทยตอนนี้ที่ครอบครองโดยบรรดาบริษัทผู้ผลิตค่ายญี่ปุ่น

ทั้งนี้ หลังจากต้องประสบกับวิกฤตยอดขายในจีน บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นเวลานี้ ยังกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ในประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดสำคัญอีกแห่งในภูมิภาคเอเชียสำหรับค่ายรถญี่ปุ่น  เนื่องจากแนวทางการพัฒนารถ EV (ของญี่ปุ่น) ที่ล่าช้าตามหลังประเทศอื่น ๆ ขณะที่กระแสรถยนต์จีนปรากฏชัดเจนในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ  เนื่องจากผู้ผลิตรถ EV จีนกำลังนำซัพพลายเออร์ของตัวเองเข้ามาในประเทศไทยด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทไทย เช่น สยามกลการ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันยาวนานกับบริษัทญี่ปุ่น ก็กำลังแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ โดยนายเซบาสเตียน ดูปุย รองประธานของสยามกลการ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า ขณะนี้บริษัทกำลังหารือกับผู้ผลิตรถยนต์จีนหลายรายเกี่ยวกับความร่วมมือที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์

Geely Panda Mini EV ... หน้าตาตะมุตะมิ แต่ก็โดนใจวัยหวาน

ไทยเนื้อหอม บริษัทรถ EV จีนแห่ลงทุน-ดึงซัพพลายเออร์มาด้วย

รายงานข่าวระบุว่า ประเทศไทยครองตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) และเป็นตลาดขายรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นครองตลาดในไทยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษจนเกือบจะเรียกได้ว่า ไทยเป็นส่วนขยายหนึ่งของตลาดญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม จีนแซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) นี้เอง โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนของบริษัท BYD ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ EV ของจีน ในโรงงานแห่งใหม่ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มดำเนินการในปี 2567 ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลไทยในการดึงดูดผู้ผลิต EV ของจีนให้มาลงทุน

ขณะที่จีนเอง บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ก็เริ่มเพิ่มการส่งออกและขยายการลงทุนออกมาตั้งศูนย์การผลิตในต่างประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ตลาดรถ EV ของจีนเองที่มีการแข่งขันกันสูง

ดังนั้น สถานการณ์ของไทยจึงจะกลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศอื่น ๆ ด้วยว่า จะรับมือกับการเปลี่ยนผ่านมาเป็นฐานการผลิตรถ EV ได้อย่างไรบ้าง

แบรนด์รถ EV จีนครองส่วนแบ่งตลาดชิ้นใหญ่ในไทย

ข้อมูลของรัฐบาลไทยระบุว่า จากจำนวนรถยนต์ใหม่เกือบ 850,000 คันที่จดทะเบียนในไทยเมื่อปีที่แล้ว (2565) มีเพียงราว ๆ 1% เท่านั้นที่เป็นรถ EV อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงเม.ย.ของปีนี้ (2566) สัดส่วนของรถ EV เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 6%

ผู้นำในตลาดรถ EV ของไทยขณะนี้ คือ BYD

ใครคือผู้นำตลาดรถยนต์ EV ในไทย

จากรายงานรอยเตอร์พบว่า ผู้นำในตลาดรถ EV ของไทยขณะนี้ คือ BYD ตามมาด้วยเอสเอไอซี (SAIC) โฮซอน (Hozon) ของจีน และเทสลา (Tesla) จากสหรัฐอเมริกา

ข้อมูลการลงทะเบียนระบุว่า ในช่วงเดือนม.ค.ถึงเม.ย.2566  มีการจำหน่ายรถ EV ทั้งหมด 18,481 คันในไทย ในจำนวนนี้ มากกว่า 7,300 คันเป็นรถ BYD

ด้านโตโยต้า ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นเจ้าตลาดในไทย ร่วมกับพันธมิตรอย่าง อีซูซุและฮอนด้า มีสัดส่วนเกือบ 70% ของยอดขายรถยนต์และรถบรรทุกทั้งหมดในไทยเมื่อปีที่แล้ว (2565) อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ โตโยต้ามีรถ EV ที่จดทะเบียนใหม่ในไทยเพียง 11 คันเท่านั้น

นายฮาจิเมะ ยามาโมโตะ หัวหน้าแผนกที่ปรึกษาของสถาบันวิจัยโนมูระในประเทศไทย กล่าวว่า แบรนด์รถยนต์จีนมีศักยภาพในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างน้อย 15% ในช่วงทศวรรษหน้า จากจุดได้เปรียบที่สามารถผลิตและส่งมอบรถ EV ได้ในราคาที่ย่อมเยากว่า

"ญี่ปุ่นจะทำได้แค่เจาะตลาดกลุ่มพรีเมียมได้เพียงบางส่วนเท่านั้น" นายยามาโมโตะกล่าวทิ้งท้าย

 

ข้อมูลอ้างอิง