ฮุนได โมบิลิตี้ ประเทศไทย ระบุว่าการลงมาทำธุรกิจด้วยตนเอง(ที่ผ่านมาใช้ดิสทริบิวเตอร์ ซึ่งรายล่าสุดคือ โซจิทซึ ทุนจากญี่ปุ่น) ในจังหวะเวลานี้มีความสำคัญ เพราะต้องการขยายตลาดในอาเซียน และนอกจากการมีโรงงานผลิตรถยนต์ที่อินโดนีเซียแล้ว กำลังศึกษาการตั้งโรงงานในไทยเช่นกัน
ปัจจุบันการทำตลาดของ ฮุนได โมบิลิตี้ ประเทศไทย มีรถยนต์ 3 รุ่นคือ เอ็มพีวี Staria นำเข้าจากเกาหลีใต้ และ H1 กับ Hyundai Stargazer นำเข้าจากอินโดนีเซีย ส่วนบี-เอสยูวีอย่าง Creta ที่ให้ดิสทริบิวเตอร์เดิมลดราคา ล้างสต๊อกไปหมดตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนี้รอการปรับปรุงโปรดักต์ใหม่(โดยเฉพาะการตกแต่งภายใน) และมีแผนจะนำเข้ามาขายอีกครั้ง เช่นเดียวกับ EV Hyundai Ionic 5 ที่เตรียมเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ผมเล่าโมเดลธุรกิจคร่าวๆ เพื่อให้เห็นภาพยุคใหม่ของฮุนไดในไทยนะครับ ส่วนโปรดักต์ที่ได้ไปลองขับล่าสุดคือ รีวิว Hyundai Stargazer ต้องบอกว่าดีใจที่ได้เห็นทางเลือกใหม่ๆในตลาด แต่ถ้าจะสู้กับ 2 บิ๊กจากญี่ปุ่นอย่าง Toyota Veloz และ Mitsubishi Xpander ยังต้องบอกว่าเหนื่อย
Hyundai Stargazer แบ่งการทำตลาดเป็น 4 รุ่นย่อยคือ Trend ราคา 769,000 บาท Style 829,000 บาท และตัว ท็อป Smart รุ่น 7 ที่นั่งราคา 869,000 บาท แต่ถ้าเป็นรุ่น 6 ที่นั่ง 889,000 บาท
รีวิว Hyundai Stargazer ที่ทุกรุ่นย่อยใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร 115 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ พร้อมล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว เบรกหน้าดิสก์ หลังดรัม พร้อมระบบ ABS เสริมแรงเบรก BAS ระบบควบคุมการทรงตัว และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน เป็นมาตรฐานเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันที่การตกแต่งภายนอก และฟังก์ชันภายใน
รีวิว Hyundai Stargazer ผมมีโอกาสได้ลองรุ่น Smart 6 ที่นั่ง โดยเริ่มก็ขอกระโดดขึ้นไปที่เบาะนั่ง Captain Seat แถวสองก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งตรงนี้เป็นจุดขายของ Hyundai Stargazer ที่แยกตำแหน่งเบาะซ้าย-ขวา และมีทางเดินแคบๆ ตรงกลาง เพื่อเข้าไปยังเบาะแถว 3
แน่นอนว่าเบาะ Captain Seat ของ Hyundai Stargazer ไม่ได้นั่งสะดวกสบายเมื่อเทียบกับเอ็มพีวีรุ่นใหญ่ในตลาดที่ขายราคา 2-3 ล้านบาท ผมว่าขนาดเบาะเล็ก การรองรับไม่ได้หนานุ่มมากมาย (มีข้อจำกัดของพื้นที่) ขณะที่ช่วงล่างการรองรับของรถอยู่ในระดับพอใช้ ทำให้ในภาพรวมของการเดินทางด้วยการนั่งในตำแหน่งนี้ ไม่ได้เหนือไปกว่าคู่แข่ง เพียงแต่ดูดีมีฟังก์ชันมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในตำแหน่งเบาะนั่งแถวสาม ทำออกมาได้ลงตัวกว่าเมื่อเทียบกับบรรดามินิเอ็มพีวีด้วยกัน ซึ่งผมว่าการรองรับ และพื้นที่ขยับขยายน่าจะดีที่สุดในคลาส
ขณะที่ระบบแอร์เย็นเร็ว และมีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังมาให้ ส่วนที่วางแก้วนํ้า และกล่อง/ช่องเก็บของต่างๆ มีรวมกันทั้งคัน 31 จุด (Mitsubishi Xpander มี 29 จุด)
Hyundai Stargazer ถ้าเทียบมิติตัวถังกับ Toyota Veloz และ Mitsubishi Xpander พบว่า Hyundai Stargazer สั้นและเตี้ยกว่า แต่มีความกว้างและระยะฐานล้อมากกว่า ส่วนกราวด์เคลียร์แลนซ์ เตี้ยที่สุดคือ 195 มม. โดยสองคู่แข่งสูง 205 และ 220 มม.ตามลำดับ
ด้วยพื้นรถไม่สูงมากบานประตูเปิดได้กว้าง ทำให้การเข้า-ออกภายในห้องโดยสารทำได้สะดวก หรือสามารถเดินผ่านเบาะ Captain Seat แทรกตัวเข้าไปที่เบาะนั่งแถว 3 ได้เลย ซึ่งตรงนี้ดีงาม
ความโดดเด่นของ Hyundai Stargazer ยังอยู่ที่เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร แบบหัวฉีดคู่ (ฉีดนํ้ามันผสมกับอากาศนอกห้องเผาไหม้) ให้กำลัง 115 แรงม้าที่ 6,300 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 144 นิวตัน-เมตร ที่ 4,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังลงสู่ล้อคู่หน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ iVT ซึ่งก็คือ เกียร์ CVT นั่นละครับ แต่สายพานที่วิ่งอยู่บนพูเล่ของฮุนไดเขาเลือกใช้สายพานโลหะ ทำให้การส่งกำลังแน่นกระชับ กว่า CVT สมัยก่อน
รถประเภทมินิเอ็มพีวี ผม (หรือลูกค้า) ไม่ได้คาดหวังถึงสมรรถนะด้านความแรงอยู่แล้ว แต่เมื่อขับจริงๆ Hyundai Stargazer ก็ไม่อืดนะครับ การตอบสนองของเครื่องยนต์และเกียร์ทำได้ดีกว่าที่คาด และเหมือนจะพริ้วกว่า Mitsubishi Xpander เล็กน้อย
เกียร์อัตโนมัติชุดนี้ล็อกอัตราทดไว้ 7 ระดับ โดยตั้งซอร์ฟแวร์ในการเปลี่ยนเกียร์ไว้ที่ไม่เกิน 4,000 รอบ ขณะเดียวกันยังเลือกโหมดการขับขี่ได้ 4 แบบคือ Eco, Normal, Sport และ Smart ซึ่งในโหมดหลังรถจะจดจำพฤติกรรมการขับขี่ และปรับการตอบสนองของเครื่องยนต์และเกียร์ ให้อัตโนมัติในแบบที่เราไม่รู้ตัวด้วยซํ้า
แต่จุดที่ผมรู้สึกว่ายังต้องปรับปรุงคือ การควบคุมผ่านพวงมาลัยแบบผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า การตอบสนองยังขาดๆ เกินๆ ยิ่งอารมณ์ตอนคืนพวงมาลัย เหมือนซอร์ฟแวร์จะมีความตั้งใจช่วยมากเกินไป ทำให้การขับขี่ไม่เป็นธรรมชาติ
Hyundai Stargazer มีกล้องตรวจจับสภาพการจราจรหน้ารถ ทำให้ได้ระบบความปลอดภัยอย่าง การเตือน และเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน ระบบควบคุมไฟสูงอัตโนมัติ เมื่อรวมกับเซ็นเซอร์ด้านข้างและหลัง จึงมีระบบเตือนเมื่อรถอยู่ในจุดอับสายตา ระบบเตือนและเบรกอัตโนมัติขณะถอยรถมาให้ด้วย (มาเฉพาะรุ่น Smart)
ด้านอัตราบริโภคนํ้ามัน จาการทดสอบวิ่งระหว่างจังหวัดภูเก็ต-พังงา รถไม่ติด แต่มีขึ้น-ลงเขาตลอดเส้นทาง ยังได้ตัวเลขประมาณ 15-16 กม./ลิตร
รวบรัดตัดความ...รูปลักษณ์แปลกตา ทรวดทรงประหลาดใจ เส้นสายของตำแหน่งไฟลํ้าสมัย การตกแต่งภายในดูดี แต่เบาะ Captain Seat ไม่ได้ฟูนุ่มนั่งสบายขนาดนั้น ส่วนเครื่องยนต์-เกียร์ ตอบสนองดี แต่ช่วงล่าง-การเก็บเสียง ยังอยู่ในระดับพอใช้ครับ
รีวิว Hyundai Stargazer โดย กรกิต กสิคุณ