โตโยต้า หนุนใช้ Big Data-AI แก้รถติดกรุงเทพฯ แจงผลศึกษาพระราม 4 โมเดล

30 เม.ย. 2566 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2566 | 11:49 น.

มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ และพันธมิตร เผยผลศึกษาโครงการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพ จากสาธรโมเดล สู่พระราม 4 โมเดล ชี้ต้องลงทุนเรื่องเทคโนโลยีและทรัพยากรบุคคล รวมถึงบังคับใช้กฎหมาย (จับ-ปรับ) จริงจังกับผู้ฝ่าฝืน

มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ (TMF) ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลงานโครงการบริหารจัดการข้อมูลจราจรบนถนนพระราม 4 ที่เริ่มศึกษาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562

โตโยต้าแถลงผลการศึกษาพระราม 4 โมเดล โตโยต้าแถลงผลการศึกษาพระราม 4 โมเดล

ทั้งนี้ TMF ให้เงินสนับสนุนจำนวน 52 ล้านบาทตลอดโครงการ  โดยหวังให้เกิดการใช้ข้อมูลเพื่อแสดงภาพข้อมูลการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเชื่อมโยงของชุดข้อมูลต่างๆ และระบุสาเหตุที่แท้จริง รวมถึงแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ของการจราจรติดขัด

 

หลังการศึกษากว่า 3 ปี โครงการนี้สามารถระบุสาเหตุของการเกิดปัญหาการจราจรในหลายๆ จุดบนถนนพระราม 4 และแก้ไขให้การจราจรคล่องตัวขึ้น อย่างเช่น คอขวดบริเวณซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ย่านอ่อนนุช ที่ได้รับการจัดระเบียบคนข้ามถนนที่ทางม้าลาย และย้ายตำแหน่งที่จอดรถของรถสองแถวให้ห่างจากหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ออกไป ส่งผลให้ลดเวลาการข้ามถนนบนทางม้าลายได้ 23 นาทีในช่วงเวลาเร่งด่วน (15.00-18.00 น.) และทำให้การจราจรคล่องตัว ขึ้น 10%

 

ส่วนข้อสังเกตจากโครงการนี้ คือ การได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอและการจัดเก็บข้อมูลก็ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทาย อีกทั้งยังมีราคาแพง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อใช้การเก็บรวบรวมข้อมูล (เช่น กล้องวงจรปิดพร้อม AI)

 

ขณะเดียวกัน ต้องมีการแบ่งปันข้อมูล (มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเหมาะสม) กับหน่วยงานเอกชนหรือภาครัฐที่ต้องการทำงานด้านการจัดการการรับ-ส่งข้อมูล พร้อมลงทุน เพื่อพัฒนานักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการจราจร (ร่วมกับการวางผังเมือง)

 

นอกจากนี้ ต้องบังคับใช้การจัดการจราจรที่เข้มข้นขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าการฝ่าฝืน (โดยเฉพาะการจอดรถ พฤติกรรมการขับขี่ ฯลฯ) และอุบัติการณ์ต่างๆ จะลดลง ซึ่งจะเป็นการลดจุดที่มีปัญหารถติดทำให้รถติดน้อยลง

โตโยต้าแถลงผลการศึกษาพระราม 4 โมเดล โตโยต้าแถลงผลการศึกษาพระราม 4 โมเดล

นายปาซานา คุมาร์ กาเนซ ผู้อำนวยการมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ เปิดเผยว่า แม้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการทดลอง แต่เราได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำมากมายที่เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาศาสตร์ของการจัดการจราจรและการวางผังเมืองด้วยการใช้ข้อมูล

โตโยต้าแถลงผลการศึกษาพระราม 4 โมเดล

“เราเชื่อในการทำงานร่วมกันโดยใช้ข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกจากมนุษย์ในการระบุและขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้ผู้คน และสินค้าเดินทางได้อย่างอิสระ ซึ่งโครงการนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และการสนับสนุนจากพันธมิตรต่างๆ จะช่วยทำให้โครงการนี้ เป็นราก ฐานสำหรับความพยายามขับเคลื่อนข้อมูลในอนาคต” นายกาเนซ กล่าว