อุตฯยานยนต์ไทยฟื้น โตโยต้า-อีซูซุ กำไรพุ่ง 2 หมื่นล้าน นิสสันขาดทุนลดลง

19 ม.ค. 2566 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2566 | 09:34 น.
887

ส่องผลประกอบการค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นปี 2565 พี่ใหญ่โตโยต้าที่ยอดขายในประเทศ และส่งออกโต ดันรายรับรวมทะลุ 4 แสนล้านบาท โกยกำไรกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท ส่วนค่ายอื่นๆ กำไรเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า ยกเว้นนิสสันที่ยังขาดทุนต่อเนื่อง

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เริ่มกลับมาสู่เส้นทางที่ควรจะเป็น แม้ยังเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการขาดแคลนชิปเพื่อผลิตรถยนต์ ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง แต่สุดท้ายจบปี 2565 สามารถผลิตรถยนต์ได้กว่า 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ทำได้เพียง 1.68 ล้านคัน

อุตฯยานยนต์ไทยฟื้น โตโยต้า-อีซูซุ กำไรพุ่ง 2 หมื่นล้าน นิสสันขาดทุนลดลง

ในจำนวน 1.8 ล้านคัน เกินครึ่งเป็นสัดส่วนของการผลิตเพื่อส่งออก สะท้อนถึงยอดการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นหลังซบซึมจากวิกฤตโควิด-19 ไปถึง 2 ปี

 

สอดคล้องกับการประกาศของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่ปรับเพิ่มกำลังผลิตรถยนต์ในปี 2565 เป็น 6.59 แสนคัน (จาก 3 โรงงานคือ สำโรง จ.สมุทรปราการ, บ้านโพธิ์ และเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา) หลังจากยอดส่งออกรถยนต์ครึ่งปีแรก 2565 ขยายตัวถึง 24.4% ที่สำคัญในปีที่แล้วยังเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวน หรือเคยอ่อนค่าไปจนถึงระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นั่นจึงหมายถึงรายรับจากการส่งออกของโตโยต้าที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

ขณะที่ยอดขายในประเทศปี 2565 โตโยต้าทำได้ถึง 288,809 คัน เติบโต 20.5% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่มากกว่าตลาดรวมอีกด้วย (ตลาดรวมประมาณ 8.5 แสนคัน เพิ่มขึ้น 12%)

 

ดังนั้น เมื่อปิดงบการเงินในปีปฏิทิน 2565 โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย แจ้งรายรับรวมเอาไว้ที่ 404,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.59% เมื่อเทียบกับปี 2564 ขณะที่ โตโยต้ากำไรสุทธิหลังจากหักภาษีแล้วอยู่ที่ 27,609 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นถึง 144.32%

 

ในปี 2565 โตโยต้าฉลองการดำเนินธุรกิจครบรอบ 60 ปีในไทย ประธานใหญ่ “อากิโอะ โตโยดะ” เดินทางมาร่วมงานฉลองและแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งนายใหญ่ทีเอ็มซี เป็นปลื้มกับผลการดำเนินงานในไทย และยกให้เป็นท็อป 4 ของฐานธุรกิจที่สำคัญ นอกเหนือไปจาก ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน

นายอากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โตโยต้าได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาห- กรรมยานยนต์ไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการลงทุนขยายธุรกิจและการผลิตรถยนต์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดการเจริญเติบโต และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 12% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

  อุตฯยานยนต์ไทยฟื้น โตโยต้า-อีซูซุ กำไรพุ่ง 2 หมื่นล้าน นิสสันขาดทุนลดลง

บริษัทโตโยต้ามียอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ สะสมกว่า 7 ล้านคัน รวมถึงผลักดันประเทศ ไทยให้เป็นที่ยอมรับในฐานะฐานการผลิตเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลกด้วยยอดการส่งออกกว่า 5 ล้านคัน

 

“มันไม่ใช่เรื่องของจำนวนยอดขายรถที่เราทำได้ที่นี่ สิ่งที่เราต้องการมอบให้ประเทศนี้มีมากกว่าแค่รถยนต์ เช่น การช่วยสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจ ดังเช่นความตั้งใจที่เราเลือกให้ประเทศ ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถรุ่นใหม่ระดับโลก” นาย โตโยดะ กล่าวสรุป

 

นอกจากผลประกอบการระดับ 4 แสนล้านบาทต่อปีของโตโยต้าแล้ว บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายอื่นๆ ต่างมีรายรับและกำไรที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ปีก่อนหน้าเจอสถานการณ์โควิดเล่นงาน

 

โดยโรงงาน อีซูซุ มอเตอร์ ประเทศไทย มีรายรับรวมกว่า 222,107 ล้านบาท กำไร  17,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.12% ส่วนบริษัทขาย ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ยังทำกำไรหลังหักภาษีได้ถึง 20,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.55%

อย่างไรก็ตาม ยังมีค่ายที่กำไรลดลงในปี 2565 คือ มาสด้า ที่มีรายรับ  31,123 ล้านบาท และกำไรสุทธิเพียง 1.34 ล้านบาท  ลดลงถึง 97.98%  (ปี 2564 กำไร 66 ล้านบาท)

 

ส่วนนิสสัน มอเตอร์ มีโรงงานผลิตรถยนต์ใหญ่ที่ถนนบางนา-ตราด กม.21-22 จ.สมุทรปราการ ทำยอดขายได้ 22,521 คัน ลดลง 24.2% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งสะท้อน  เป็นผลประกอบการปี 2565 ที่ขาดทุน 267 ล้านบาท แต่ถือเป็นการขาดทุนที่ลดลงจากปี 2564 ที่ตัวเลขติดลบไปถึง 6,102 ล้านบาท