เบนซ์ ยกเครื่องธุรกิจในไทยเปลี่ยนดีลเลอร์ เป็น เอเจนต์ ขายรถราคาเดียวกัน

01 ธ.ค. 2565 | 08:16 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2565 | 19:17 น.
2.6 k

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจในไทยครั้งใหญ่ ตามแผน Retail of the Future หวังยกระดับแบรนด์ ไม่แข่งขันด้านราคา พร้อมเปลี่ยนสถานะดีลเลอร์ให้เป็น“เอเจนต์” ใช้โปรโมชันและราคาขายเดียวกันทั่วประเทศ เริ่มปี 2567

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เปลี่ยนประธานใหม่เป็น มาร์ติน ชเวงค์ มีผล 1 มกราคม 2566 มุ่งทำภารกิจใหญ่ Retail of the Future ที่จะเปลี่ยนสถานะผู้จำหน่ายในปัจจุบันให้เป็นแค่ “เอเจนต์” ช่วยปล่อยรถและรับค่าคอมมิชชันแทน โดยโชว์รูมทั่วประเทศใช้โปรโมชันและราคาขายเดียวกัน

 

ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เตรียมปรับขึ้นราคารถยนต์ใหม่หลายรุ่น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่ายรถยนต์ระดับพรีเมียมอื่นๆ เช่น บีเอ็มดับเบิลยู อาวดี้ ปอร์เช่ เหตุจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ชิ้นส่วนโดยเฉพาะชิปขาดแคลน และสถานการณ์ค่าเงินบาทผันผวน

เบนซ์ ยกเครื่องธุรกิจในไทยเปลี่ยนดีลเลอร์ เป็น เอเจนต์ ขายรถราคาเดียวกัน

สำหรับการปรับราคาของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในครั้งนี้ มีตั้งแต่ 2 หมื่นบาทในรุ่น GLC Coupe และ 6 หมื่นบาทกับเอสยูวีเล็ก GLA 200 ไปจนถึงราชาออฟโรด Mercedes AMG G 63 ขยับราคาขึ้น 1.62 ล้านบาท เป็น 17.92 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

 

นอกจากขึ้นราคารถแล้ว ค่ายดาวสามแฉกยังเริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยการต้อนรับนายใหญ่ชาวเยอรมัน “มาร์ติน ชเวงค์” ที่ถูกโยกมาจากอินเดียเพื่อเข้ารับงานต่อจาก “โรลันด์ โฟล์เกอร์” ประธานบริหาร เมอร์เซเดส- เบนซ์ ประเทศไทย คนปัจจุบัน

 

นายมาร์ติน ชเวงค์ จะมีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยการนำกลยุทธ์ Retail of the Future มาใช้ ที่นอกจากการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้อย่างจริงจัง โดยลูกค้าสามารถเลือกรถยนต์และจองผ่านระบบออนไลน์ได้แล้ว สถานะของผู้จำหน่ายยังเปลี่ยนไปอีกด้วย

มาร์ติน ชเวงค์

กล่าวคือระบบเดิมที่ดีลเลอร์ต้องกู้เงินไปสั่งรถกับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย และมีสต๊อกไว้ในมือเพื่อรองรับการขาย แต่แผน Retail of the Future จะนำบรรดาคู่ค้าเหล่านี้มาเซ็นสัญญากันใหม่ เพื่อเปลี่ยนบทบาทให้เป็น “เอเจนต์” ช่วยปล่อยรถและรับค่าคอมมิชชัน โดยไม่ต้องลงทุนสต๊อกรถอีกต่อไป (โมเดลธุรกิจลักษณะเดียวกับ เกรท วอลล์ มอเตอร์)

นั่นหมายความว่า ลูกค้าสามารถสั่งรถและเลือก “เอเจนต์” ที่สะดวกในการรับรถผ่านช่องทางออนไลน์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ได้ ซึ่งปัจจุบันกำลังพัฒนาแพลตฟอร์ม ให้ตอบสนองการใช้งานให้ครอบคลุมทุกๆ มิติ

เบนซ์ ยกเครื่องธุรกิจในไทยเปลี่ยนดีลเลอร์ เป็น เอเจนต์ ขายรถราคาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แผน Retail of the Future ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่จะเริ่มใช้ในปี 2567 ยังมีคำถามว่าจำนวนโชว์รูมกว่า 30 แห่งในปัจจุบันยังมีความสำคัญระดับไหน ขณะที่ตัวดีลเลอร์จะคล้อยตามไปกับนโยบายนี้หรือเปล่า ซึ่งนี่คือความท้าทายของ “มาร์ติน ชเวงค์” ที่จะต้องเข้ามาจัดการ

 

สำหรับโมเดล Retail of the Future จะขยายไปในตลาดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั่วโลกถ้ากฎหมายประเทศนั้นๆ เอื้ออำนวย โดยเริ่มใช้ครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ ต่อมาขยับขยายไปยังสวีเดน ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ ยืนยันว่ารูปแบบการขายรถแบบนี้ แฮปปี้ทุกฝ่าย ทั้ง เอเจนต์ (ดีลเลอร์เดิม) ลูกค้า ที่ขายราคาและโปรโมชันเดียวกัน จึงไม่มีการตัดราคา ทั้งยังดีต่อการบริหารจัดการของบริษัท และมีกำไรที่ยั่งยืน (ไม่ต้องอัดเงินส่งเสริมการขายลงไปเยอะๆ)

 

นายแมทเทียส เลอร์ส ผู้อำนวยการภูมิภาค เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ส ที่เป็นผู้แต่งตั้ง มาร์ติน ชเวงค์ ให้มารับเผือกร้อนที่เมืองไทย เปิดเผยว่า Retail of the Future จะช่วยยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ ส่งผลดีต่อดีลเลอร์และแบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์เอง ซึ่งเรามีผู้เชี่ยวชาญคือ มาร์ติน ชเวงค์ ที่นำโมเดลนี้ไปใช้อย่างประสบความสำเร็จในอินเดีย

มาร์ติน ชเวงค์ - แมทเทียส เลอร์ส - โรลันด์ โฟล์เกอร์

เป้าหมายหลักของเมอร์เซเดส- เบนซ์ คือความเป็นลักชัวรี ทั้งเรื่องการให้บริการ เรื่องผลิตภัณฑ์ และความเป็นดิจิทัล ซึ่งทั้งหมดจะทำให้เมอร์เซเดส-เบนซ์เป็นแบรนด์ที่เป็น ที่ต้องการของลูกค้า

“เรามีสินค้าที่ลักชัวรีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องการเน้นยํ้าคือ การให้ บริการ และการเข้าถึงลูกค้าที่พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดี และที่สำคัญคือเรื่องการขายในช่องทางดิจิทัลจะมีบทบาทมาก ยิ่งสินค้าที่มีความลักชัวรี่ เราต้องมั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับการบริการแบบราบรื่นไร้รอยต่อที่สุด” นายเลอร์ส กล่าว

 

นายมาร์ติน ชเวงค์ ว่าที่ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล และระบบการขายแบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในอินเดีย ทำให้ในปีที่ผ่านมา เมอร์เซเดส-เบนซ์ สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดในเซกเมนต์ลักชัวรีเป็นอันดับหนึ่ง ที่ 45%

เบนซ์ ยกเครื่องธุรกิจในไทยเปลี่ยนดีลเลอร์ เป็น เอเจนต์ ขายรถราคาเดียวกัน

อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มียอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาก กว่า 3 ล้านคันต่อปี แต่กลุ่มรถยนต์ระดับลักชัวรีนั้นมีสัดส่วนน้อยกว่า
1% ของทั้งอุตสาหกรรม โดยมียอดขายไม่ถึง 30,000 คันต่อปี

 

“การฟื้นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เป็นผลลัพธ์ของความยืดหยุ่น ความอดทน และความมุ่งมั่นของผู้คนและพนักงานของเรา ในปี 2565 เมอร์เซเดส-เบนซ์ อินเดีย เตรียมพร้อมรับยอดขายสูงสุดเท่าที่เคยมีมา แซงหน้ายอดขายที่ดีที่สุดที่เคยทำไว้ในปี 2561” นายชเวงค์ กล่าว โดยยังไม่พูดถึงแผนการทำงานในประเทศไทย

 

ด้านแหล่งข่าวดีลเลอร์รายหนึ่งของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์  ได้แจ้งผู้จำหน่ายถึงแผนงาน Retail of the Future ที่จะนำมาใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้าแล้ว ซึ่งดีลเลอร์ส่วนใหญ่ยอมรับเดินหน้าตามแผนนี้ 100% แต่ด้วยรูปแบบของธุรกิจที่เปลี่ยนไปยังมีหลายดีลเลอร์ที่ยังหวั่นใจอยู่

 

“โมเดลธุรกิจใหม่ในภาพรวมดีแน่นอน และเราพร้อมดำเนินตามนโยบายของบริษัทแม่ แต่ต้องยอมรับว่าด้วยกระบวนการทำงานที่เปลี่ยน ไป ดังนั้นเมื่อถึงปี 2567 ต้องมาสรุปว่าจำนวนดีลเลอร์จะมีกี่ราย หรือโชว์รูม-ศูนย์บริการจะมีกี่แห่ง” แหล่งข่าวกล่าว