Yamaha Finn ยอดพุ่ง ไทยยามาฮ่า เปิดตัวรถใหม่ 9 รุ่น ดันแชร์ 17.5%

15 ก.พ. 2565 | 07:43 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2565 | 14:58 น.

ไทยยามาฮ่ารับโควิด-19 ป่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ และซัพพลายเชนทั่วโลก แต่ในวิกฤติยังมีโอกาส เพราะได้ Yamaha Finn เจาะภาคอีสาน และพื้นที่ต่างจังหวัด ดันรถครอบครัวราคาประหยัดพุ่ง 42% พร้อมรุกตลาดในปี 2565 ด้วยการเปิดตัวรถใหม่ 4 รุ่น และบิ๊กไบค์ 5 รุ่น ผลักดันยอดขาย 2.87 แสนคัน 

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2564 เผชิญปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต ทั้ง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หลายรุ่นขาดสต๊อก ไม่มีสินค้าส่งมอบ ในขณะที่ตลาดรถยนต์ยอดขายลดลง 4% แต่ตลาดรถจักรยานยนต์ที่ทำได้ 1.61 ล้านคัน ยังกลับมาฟื้นตัวโดยเติบโต 6% หลังจากปี 2563 ตลาดสองล้อร่วงไปถึง 12%

Yamaha Finn ยอดพุ่ง ไทยยามาฮ่า เปิดตัวรถใหม่ 9 รุ่น ดันแชร์ 17.5%

เมื่อแยกตามเซกเมนต์ยังเห็นชัดเจนว่า ในกลุ่มรถสปอร์ตยอดขายลดลงกว่า 20% หรือ บิ๊กไบค์ (เกิน 400 ซีซี) ตก 34% สวนทางกับกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง รถออโตโมติก เติบโต 8.7% และรถครอบครัวเกียร์ธรรมดา “โมเพ็ด” ขายเพิ่มขึ้น 7.3%

 

“เศรษฐกิจไม่ดี รถโมเพ็ดยอดขายเติบโต เพราะมีความคุ้มค่าและจำเป็นในการใช้งานหรือดำรงชีวิตขณะเดียวกันช่วงโควิด-19 อาจมองได้ว่า กลุ่มคนที่ตกงานในเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานคร หรือ จังหวัดท่องเที่ยว ต้องย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนาทำให้ต้องซื้อรถไว้ใช้ สะท้อนให้เห็นผ่านยอดขายยามาฮ่า ปี 2564 ในภาคอีสานโตถึง 21%” นายพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวและว่า

 

ในวิกฤติย่อมมีอีกด้านที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ เช่นการเติบโต 42% ของรถโมเพ็ดยามาฮ่าด้วยจำนวน 6.2 หมื่นคัน ส่วนหนึ่งเพราะ Yamaha Finn เข้าไปเจาะตลาดในต่างจังหวัด หรือพื้นที่ที่ขยับออกจากตัวเมือง ตลอดจนการทำงานร่วมกับผู้จำหน่ายในแต่ละพื้นที่อย่างเข้มข้น การตลาดและการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม ออนไลน์ เพื่อช่วยในการปิดการขาย ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ยอดขายโดยรวมของไทยยามาฮ่า เติบโตมากกว่าตลาด และครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 16.5%

นายพงศธร กล่าวว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยในปี 2564 จะขยายตัวมากกว่านี้ (โต 6%) ถ้าไม่ติดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต นอกจากนี้ยังต้องเผชิญต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนส่งผลให้อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เติบโตไม่เต็มที่ ส่วนปี 2565 คาดว่าตลาดจะเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ 2% ด้วยยอดขาย 1.642 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นของไทยยามาฮ่า 2.87 แสนคัน เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2564 พร้อมเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 17.5%

Yamaha Finn ยอดพุ่ง ไทยยามาฮ่า เปิดตัวรถใหม่ 9 รุ่น ดันแชร์ 17.5%

“ตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พอสมควร แต่ยามาฮ่าสามารถปรับตัวและทำกลยุทธ์การตลาดให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเติบโตของยามาฮ่า เป็นผลจากการเดินหน้านโยบายด้านการขายและการทำตลาดอย่างเข้มข้น”

 

สำหรับแผนงานโปรดักต์ในปีนี้ ไทยยามาฮ่าเตรียมเปิดตัวรถใหม่ 4 รุ่น ไม่นับรวมบิ๊กไบค์อีก 5 รุ่น และจะมีรุ่นที่เป็นไฮไลต์เปิดตัวปลายเดือนมีนาคมนี้ ในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2022

 

ไทยยามาฮ่ายังมุ่งมั่นพัฒนาภาพลักษณ์ของตราสินค้าผ่านหลักปรัชญา KANDO พร้อมกับ Brand Slogan “Revs Your Heart” เร่งชีวิตให้เร้าใจ พร้อมรุกตลาดด้วยโปรดักต์ใหม่ ครอบคลุมทุกเซกเม้นต์ ทั้ง R-SERIES, SPORT HERITAGE, MAX SERIES และ FASHION AUTOMATIC รวมทั้งแอปพลิเคชัน Y-Connect ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารกับลูกค้า

นอกจากนี้ ยังสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าด้วยการรับประกัน 5 ปี หรือ 50,000 กิโลเมตร ในรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าทุกรุ่นที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 500 ซีซี พร้อมยกระดับโชว์รูมยามาฮ่ารูปแบบใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ “Move faster, Move further, Move together with Yamaha” จากในปี 2564 ที่ปรับเปลี่ยนไปแล้ว 10 แห่ง และปีนี้จะทำครบ 60 แห่ง โดยตั้งเป้าหมายภายใน 4 ปี การปรับโฉมโชว์รูมจะครบทุกแห่งทั่วประเทศ

 

“ปีนี้เราต้องหวังการเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวมาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลคาดการ GDP ในปี 2565 จะอยู่ในระดับ 3.4-3.9% แต่เรายังต้องเผชิญกับปัจจัยลบ ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าและวัตถุดิบปรับขึ้นราคา ตลอดจนหนี้ ภาคครัวเรือนในระดับสูง ส่วนราคา นํ้ามันที่มีแนวโน้มขยับราคาสูง ถ้า มองในแง่ดีคือ ผู้คนจะหันมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งในภาพรวมของตลาดรถจักรยานยนต์ไทยในปี 2565 ยังไม่หวือหวามากนัก” นายพงศธร กล่าว