สถาบันยานยนต์ กางแผนรองรับยานยนต์ไฟฟ้า

21 ม.ค. 2565 | 04:25 น.
1.2 k

สถาบันยานยนต์เตรียมความพร้อมรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ปู 3 แนวทางเริ่มตั้งแต่ตรวจสอบความปลอดภัยของระบบแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนยานยนต์ ,พัฒนากิจกรรมการตรวจประเมิน ,พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของยานยนต์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีระบบการขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นการขับเคลื่อนโดยการใช้ไฟฟ้า  สถาบันยานยนต์ (สยย.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ดังนี้

 

1. ขยายขอบข่ายการตรวจสอบความปลอดภัยของระบบแบตเตอรี่ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า EV Hybrid และ Plug-in Hybrid ตามมาตรฐาน มอก.3026-2563 หรือ UN R100 และระบบแบตเตอรี่ขับเคลื่อน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามมาตรฐาน มอก.2952-2561 หรือ UN R136 รวมถึงการตรวจสอบเซลล์ และโมดูลแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำหรับการผลิตแบตเตอรี่แพคขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าให้มีความปลอดภัย

 

สถาบันยานยนต์กางแผนรับยานยนต์ไฟฟ้า

 

นอกจากระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้าแล้ว ยังได้ขยายการให้บริการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย ทั้งที่ผลิตขึ้นในประเทศ และนำเข้ามาขายในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล เช่น

 

การทดสอบตามมาตรฐานอาเซียน และการทดสอบตามมาตรฐานยุโรป สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ที่ติดตั้งอยู่ในยานยนต์สันดาปภายในและยานยนต์ไฟฟ้า เช่น มาตรวัดความเร็ว กระจกรถยนต์ แตร เสียงขณะวิ่ง เข็มขัดนิรภัย จุดยึดเข็มขัดนิรภัย จุดยึดที่นั่งและพนักพิงศีรษะ
 


2.การพัฒนากิจกรรมการตรวจประเมินเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ดังนี้


กิจกรรมการตรวจรับรองวัตถุดิบ Free Zone ตามประกาศกรมศุลกากรเลขที่ 144/2561 โดยสถาบันยานยนต์ได้จัดทำหลักเกณฑ์ในการรับรองวัตถุดิบยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 9 รายการประกอบด้วย แบตเตอรี่  3 รายการ (แบตเตอรี่ที่มีกระบวนการผลิตเซลล์ขั้นปลาย แบตเตอรี่ที่มีกระบวนการผลิตโมดูลของเซลล์แบตเตอรี่ แบตเตอรี่ที่มีกระบวนการผลิตแพ็กกิ้งแบตเตอรี่)  

 

และ Traction Motor, Battery Management System (BMS) , Inverter, Converter, Driving Control Unit (DCU), Reduction Gear ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า

 

โดยเฉพาะแบตเตอรี่ให้มีจำนวนสูงขึ้น โดยมีผู้ประกอบการบางรายเริ่มเข้ามาลงทุนผลิตวัตถุดิบ กล่องควบคุมการทำงานแบตเตอรี่ที่ใช้ในการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า ( (BMS) รวมถึงมีกระบวนการพัฒนาซอฟท์แวร์ในประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

 

กิจกรรมการตรวจประเมินตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่ง สยย. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการทำมาตรฐานแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันเป็นมาตรฐานทั่วไป ยานยนต์ประเภท  L : คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า (มอก.2952-2561) อ้างอิงจากมาตรฐาน UN R136 และยานยนต์ประเภท M และ N : คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า (มอก.3026-2563) อ้างอิงจากมาตรฐาน UN R100

สถาบันยานยนต์ กางแผนรองรับยานยนต์ไฟฟ้า

3.การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า  ซึ่งได้จัดทำหลักสูตรร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  และได้ตั้งเป้าหมายปี พ.ศ. 2565 ในการฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นจำนวนกว่า 700 ราย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า 


    
นอกจากนี้แล้วสถาบันยานยนต์ยังมีกิจกรรมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่อง การเปลี่ยนผ่านห่วงโซ่อุปทานไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ประกอบด้วย การพัฒนาบุคลากรเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ

 

พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายด้านยานยนต์สมัยใหม่ ในประเด็น “Carbon neutral” ประกอบด้วย การศึกษาความเป็นไปได้ของการนำมาตรฐาน CAFÉ มาใช้ในประเทศไทย ศึกษาห่วงโซ่มูลค่า ELV เพื่อการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย รวมถึงโอกาสและความท้าทายของการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในปี พ.ศ. 2565 

 

“ความพร้อมที่สถาบันยานยนต์ กำลังสร้างขึ้นเหล่านี้ จะรับรองอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด พร้อมแนวโน้มของความนิยมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากหลายปัจจัยได้อย่างแน่นอน” 


นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์