โตโยต้าปรับแผนผลิต ลดเป้าขายในประเทศ ดันส่งออก 3.22 แสนคัน

05 ส.ค. 2564 | 07:49 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2564 | 14:48 น.
833

ยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ประกาศปรับลดเป้าหมายการขายปี 2564 เหลือ 2.6 แสนคัน จากที่เคยตั้งไว้ 3 แสนคัน และขยับแผนส่งออกเพื่อชดเชยตัวเลขในประเทศ รับอานิสงส์ค่าเงินบาทอ่อน พร้อมวางกำลังผลิตใหม่ รวม 3 โรงงาน เป็น 5.8 แสนคัน เพิ่มขึ้นจาก 4.42 แสนคันในปี 2563

หลังจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในไทยหลายราย ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ทั้งปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน อุปสรรคด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการติดเชื้อโควิด-19 ของพนักงาน ของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน จนส่งผลต่อการวางผลิตรถยนต์

 

ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งแบรนด์ญี่ปุ่น อเมริกัน จีน ยังต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบกันทุกสัปดาห์ โดยที่ผ่านมาได้ปรับแผนงานการผลิตทั้งเพิ่มวันหยุดตามปีปฏิทิน ลดเวลาทำงาน ให้สอดคล้องกับศักภาพการผลิตตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็น ต้นมา ขณะที่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศให้โรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่งในไทยหยุดยาว 9 วัน จากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต เพราะโรงงานของซัพพลายเออร์ต้องปิด   หลังพบพนักงานติดโควิด-19

โตโยต้าปรับแผนผลิต ลดเป้าขายในประเทศ ดันส่งออก 3.22 แสนคัน

สำหรับโตโยต้า มีโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่งที่ จ.ฉะเชิงเทรา คือ บ้านโพธิ์ กำลังการผลิตเต็มที่ 2.2  แสนคันต่อปี และเกตเวย์ 3 แสนคันต่อปี รวมถึงโรงงานสำโรง จ. สมุทรปราการ 2.4 แสนคันต่อปี โดยทั้ง 3 โรงงานหยุดการผลิตชั่วคราวจากผลกระทบด้านโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม -  4 สิงหาคม  2564

 

ล่าสุด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ออกมาประกาศดัชนีอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย หลังผ่านครึ่งปีแรก 2564 โดย โตโยต้าปรับลดเป้าหมายการขายของตลาดรวมลงเหลือ 8 แสนคัน น้อยกว่าที่ประเมินไว้ช่วงต้นปีว่า ยอดขายทุกยี่ห้อจะถึง 8.5 - 9.0 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ทำได้ 7.92 แสนคัน ขณะเดียวกันยังปรับลดเป้าหมายการขายของตนเองลงเหลือ 2.6 แสนคัน จากที่เคยตั้งไว้ 2.8 - 3.0 แสนคัน

 

แม้เป้าหมายการขายใหม่ 2.6 แสนคัน เป็นการปรับลดลง แต่ถ้าเทียบกับปี 2563 ที่โตโยต้าทำได้ 2.44 แสนคัน นั่นหมายถึงค่ายรถยนต์รายนี้จะมีอัตราเติบโตในปี 2564 ถึง 6% เมื่อเทียบกับตลาดรวมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1%

 

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะยังคงได้รับผลกระทบอย่างมาก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยอดขายตลาดรวมอยู่ที่ 373,191 คัน เพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

การแพร่ระบาดในระลอกล่าสุดมีความรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม และส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมุ่งหวังว่าสถานการณ์ต่างๆจะฟื้นตัวดีขึ้น จากความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาควบคู่ไปกับแผน การฉีดวัคซีนสำหรับคนไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

“มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางของตลาดรถยนต์ในปีนี้ ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุด การเข้าถึงวัคซีนของประชาชน รวมถึงแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ตลอดจนการสนับสนุน จากองค์กรเอกชนทุกภาคส่วนที่ผนึกกำลังในการร่วมคลี่คลายสถานการณ์ เรามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะสามารถฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2564 จะอยู่ที่ 8 แสนคัน เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา” นายยามาชิตะ กล่าวสรุป

 

แม้โตโยต้าจะปรับลดเป้าหมายการขายในประเทศลง แต่กลับพบว่า ได้เพิ่มการผลิตรถยนต์จากเดิมวางไว้ 5.27 แสนคันในปีนี้ เป็น 5.8 แสนคันสาเหตุมาจากตลาดส่งออกเริ่มฟื้นตัวขณะเดียวกันสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะเป็นปัจจัยบวกเพียงไม่กี่อย่างในสถานการณ์ธุรกิจ ณ ปัจจุบัน

 

โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ขยับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ปีนี้เพิ่มเป็น 3.22 แสนคัน โดยสูงกว่าปี 2563 ที่ทำได้ 2.15 แสนคัน ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าของไทย กลับมาฟื้นตัว ทั้ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย และภูมิภาคยุโรป จึงปรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์เพิ่มเป็น 8.0-8.5 แสนคันใน ปี 2564 แต่ยังคงเป้าการขายในประเทศไว้เท่าเดิมที่ 7.5 แสนคัน