นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าต้องชัดเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากตปท.

30 มิ.ย. 2564 | 10:46 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2564 | 10:51 น.

"ยศพงษ์" ระบุ ไทยต้องกำหนดนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าให้ชัดเจนเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ชี้โอกาสการเป็นฐานการผลิตยังมีแต่ต้องส่งเสริมทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้ใช้ควบคู่กันไป

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center หรือ MOVE กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ "รถยนต์ไฟฟ้าพลิกโอกาสธุรกิจ เปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทย” ที่จัดขึ้นโดย "นสพ.ฐานเศรษฐกิจ" เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 64 โดยเผยว่า ถ้าประเทศไทยต้องการคงความเป็นผู้นำเรื่องยานยนต์ จะต้องปักธงและกำหนดให้ชัดเจนว่าจะส่งเสริมให้เป็น EV 100% เมื่อไหร่ 


พร้อมลงดีเทลรายละเอียดกำหนดนโยบายแผนการดำเนินการต่างๆให้ชัดเจนเพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศที่มองเห็นภาพแบบเดียวกันเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะในอนาคตข้างหน้าไม่เกิน 10 ปีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จะแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีไม่ใช่แข่งขันด้วยราคาถูก


“ประเทศไทยยังอยู่ในยุคเริ่มต้นของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในโลกประมาณ 10 ล้านคัน แต่รถยนต์บนโลกมีเป็นพันล้านคัน ประเทศไทยเรายังมีโอกาส เพราะเรามีฐานการผลิตอยู่แล้ว เราต้องพยายามส่งเสริมทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้ใช้ควบคู่กันไป ทุกบริษัทที่ทำรถยนต์ไฟฟ้าในวันนี้ยังมีโอกาสทั้งนั้น”


สำหรับประเทศไทยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้าค่อยๆเติบโต ปัจจุบันมีสถานีชาร์จทั่วประเทศมากกว่า 6 ล้านจุด นอกจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานแล้ว มีบริษัทสตาร์ทอัพเพียง 2-3 ราย เข้ามาเล่นในตลาด เพราะต้นทุนสูงหลักพันล้านบาทถึงหมื่นล้านบาท
 

รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหา PM 2.5 ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2- 3 ปี แหล่งกำเนิด PM 2.5 กว่า 50% มาจากยานยนต์ ดังนั้นคงต้องมองยานยนต์ที่ไร้มลพิษมากขึ้นและต่อยอดไปถึงเรื่องของพลังงานที่สะอาดและปลอดภัย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น โดยต้องใช้ 3 ส่วนประกอบ 3 ส่วนหลักคือ ประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จำเป็นต้องหาจุดสมดุลร่วมกันให้ได้


ในการสร้างรูปแบบการเดินทางที่ยั่งยืน จะต้องขับเคลื่อนด้วย 3 กลไกคือ 1. ลดการเดินทาง 2. เปลี่ยนวิธีการเดินทางโดยใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น และ3.การพัฒนายานยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูง ลดมลพิษซึ่งปัจุบันการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่มีการเปลี่ยนตัวถังน้ำมันและเครื่องยนต์ออกไปและแทนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งประสิทธิในการขับเคลื่อนดีกว่าไม่ไช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว


ล่าสุดเทสลา ได้ประกาศว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอีก 2 ปีข้างหน้าให้มีราคาอยู่ที่ราวๆ 7 แสนบาท และอาจมีการปรับโครงสร้างรถยนต์โดยใส่แบตเตอรี่เข้าไปอยู่ในตัวถังทำให้มีพลังงานเพิ่มขึ้น 5 เท่าสามารถชาร์จได้เร็วขึ้น
 

ในปี 2020 ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตสูงขึ้นจากปี 2019 อย่างมีนัยสำคัญ เพราะแม้ว่าจะเจอกับวิกฤติโควิด 19 ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ในทางกลับกันตัวเลขการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากลับสูงขึ้นสวนทางตลาด สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคต้องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ


นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2025 ราคารถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์กับรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่แตกต่าง สาเหตุหลักมาจากราคาของแบตเตอรี่จะลดลงถึงจุดที่ซื้อขายสะดวกเหมือนวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง