ยานยนต์ไฟฟ้าคืบ สศอ.เดินหน้าหนุนเต็มที่

29 มิ.ย. 2564 | 20:45 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2564 | 10:53 น.
715

สศอ.ย้ำไทยหนุนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมหารือทุกหน่วยเพื่อออกมาตรการรอบด้าน ทั้งแผนรีไซเคิลแบตเตอรี่ สิทธิพิเศษเพื่อจูงใจให้คนมาซื้อรถอีวี คาดมีความชัดเจนในวันที่ 6 ก.ค. นี้

นางสาวพะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ "รถยนต์ไฟฟ้าพลิกโอกาสธุรกิจ เปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทย” ที่จัดขึ้นโดย "นสพ.ฐานเศรษฐกิจ"เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 64 โดยได้เผยว่าปัจจุบันเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรงและหลายประเทศเริ่มหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนตามเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น โดยนำร่องในหน่วยงานภาครัฐ  

 
ทั้งนี้ไทยมีนโยบายเปิดกว้างให้กับผู้ผลิต โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ 19 ราย รถจักรยานยนต์ 10 ราย  ชิ้นส่วนยานยนต์ 3,200 ราย ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีไทย และมีแรงงานอยู่ในระบบอุตสาหกรรมรถยนต์กว่า 7 แสนราย


“ภาครัฐมีความยินดีที่ผู้ประกอบการไทยและรัฐวิสาหกิจช่วยกันผลักดัน ซึ่งตรงกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาผลิตอย่างจริงจัง ก่อนที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาผลิตในไทยมากขึ้น  เพราะทั้งโลกเทรนด์รถไฟฟ้า สิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง ดังนั้นไทยเองต้องทำตามแนวโน้มความต้องการของตลาด ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยนั้นมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก”
 

นางสาวพะเยาว์ กล่าวว่า ส่วนความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการที่รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)จากจีนจะเข้ามาตีตลาดไทยและมีราคาถูกกว่า เนื่องจากได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีนั้น ตรงจุดนี้ก็ขอยืนยันว่า ความจริงแล้วนักลงทุนจีนเองต้องการเข้ามาผลิตรถยนต์ในไทยมากกว่า เพราะพวงมาลัยที่ผลิตในจีนอยู่คนละฝั่งกับรถยนต์ที่ผลิตในไทย ซึ่งจากการพูดคุยกับภาคเอกชนจีน มีแผนที่จะมาผลิตในไทยมากกว่านำเข้ามา แม้ว่าจะได้สิทธิด้านภาษีเป็น 0 % ก็ตาม 


ส่วนกรณีการรีไซเคิลแบตเตอรี่จะมีวิธีการหรือกระบวนการอย่างไรนั้น ในเรื่องนี้ สศอ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด มีทั้งกองทุนแบตเตอรี่  ซึ่งคาดว่าน่าจะมีมาตรการออกมาเร็วๆนี้ โดยรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะมีการเรียกหารือในสัปดาห์หน้า และน่าจะมีความชัดเจนในเร็วนี้ 
 

รวมไปถึงกรอบแนวทางและการสนับสนุนให้คนมาซื้อรถอีวีกันมากขึ้น และสิทธิพิเศษในการจูงใจ ซึ่งกระทรวงพลังงาน สศก.และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้วางกรอบไว้แล้ว ทั้งเรื่องโครงสร้างภาษีและไม่ใช่ภาษี ซึ่งการสนับสนุนเงินอาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันเพราะรัฐบาลมีความจำเป็นต้องนำเงินไปใช้ในเรื่องที่สำคัญกว่า แต่การลดหย่อนภาษีน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดซึ่งต้องรอความชัดเจนจากกรมสรรพสามิตที่วางกรอบ คาดว่าในวันที่ 6ก.ค.น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง