"สุพัฒนพงษ์"กางแผนยานยนต์ไทยสู่เป้าหมายZEVในปี 2030

29 มิ.ย. 2564 | 17:41 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2564 | 10:54 น.
1.3 k

"สุพัฒนพงษ์" ประกาศแผนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกับเป้าหมายZEV ปี 2030 ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 7.25 แสนคัน แนะบันไดก้าวแรกภายใน 4 ปีหลังจากนี้ต้องผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 2.25 แสนคัน เร่งสร้างความพร้อมของระบบนิเวศทั้งแบตเตอรี่และสถานีอัดประจุไฟฟ้า

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กับเป้าหมาย ZEV ปี 2030" ทางระบบประชุมทางไกลจากกระทรวงพลังงาน ในงานสัมมนา"ยานยนต์ไฟฟ้า:จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ" จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญ ว่า ไทยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (ZEV - Zero Emission Vehicle )จำนวน 725,000 คัน หรือ 30 % ของการผลิตยานยนต์ไทย ในปี 2030(พ.ศ.2573) 


สำหรับเป้าหมายดังกล่าว ก็เพื่อรักษาความเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ไทย และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติจากการปรับตัวไปตามกระแสโลก และการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้นแล้วการขับเคลื่อนสู่ยานยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้ ยังสะท้อนความมุ่งมั่นของประเทศไทย ที่จะร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีส เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

\"สุพัฒนพงษ์\"กางแผนยานยนต์ไทยสู่เป้าหมายZEVในปี 2030
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเป้าหมายการผลิตรถยนต์ดังกล่าวแล้ว ไทยยังต้องเร่งสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเอื้อให้บรรลุเป้าหมาย อาทิ แบตเตอรี ปีละ 40 กิกะวัตต์อาวร์ (Kilowatt-hour) ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากพอที่จะจูงใจให้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรีในประเทศ สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ EV ที่ 12,000 แห่ง ปรับปรุงระบบสายส่งให้เป็น Smart Grid เพื่อให้คล่องตัวและยืดหยุ่นตามความต้องการที่เคลื่อนที่ใช้ของรถอีวี  
 

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการรับประกันการก้าวสู่เป้าหมาย 9 ปี จึงได้กำหนดแผนระยะแรก  4 ปี โดย ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 225,000 คันในปี 2568  แบตเตอรี่ปีละ 20 กิกะวัตต์อาวร์(Kilowatt-hour) มีโรงงานแบตเตอรี 1-2 แห่งที่ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้ายอมรับ และสถานีอัดประจุ 2,000-4,000 แห่ง ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอสำหรับการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน


"เป้าผลิต 2.25 แสนคันในปี 68 เป็นหมุดหมายแรกภายใน 4 ปี ถ้าทำได้สำเร็จ ก็เชื่อมั่นได้ว่าเป้าหมายตามนโยบาย30/30 จะสำเร็จได้แน่นอน" 


นายสุพัฒน์พงษ์กล่าวอีกว่า เป้าหมาย ZEV ดังกล่าวไม่เพียงจะดึงดูดผู้ประกอบการด้านยานยนต์ไฟฟ้า หรือ แบตเตอรีรถยนต์ แต่ยังดึงดูดให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆอีกมากมายมหาศาล เนื่องจากยานยนต์สมัยใหม่ใช้ระบบการทำงานต่างๆ ที่ควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 


"จากเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของรัฐบาล ในการกำหนดเป้าหมายสู่ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามกติกาสากลที่ทั่วโลกยอมรับ จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และที่เกี่ยวเนื่องเท่านั้น"