วันสุนทรภู่ 2567 มัดรวมประวัติ ผลงานเลื่องชื่อ กวี 4 แผ่นดิน

19 มิ.ย. 2567 | 05:00 น.
4.0 k

26 มิถุนายน ร่วมรำลึก วันสุนทรภู่ 2567 กวี 4 แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เปิดประวัติ พร้อมผลงานอันเลื่องชื่อ สรุปรวมไว้ให้แล้วที่นี่  

วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันสุนทรภู่" กวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลกจากผลงานมากมายที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ นิทานเรื่อง "พระอภัยมณี" และบทเสภาเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน"

สุนทรภู่ ได้รับฉายาว่า เป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และได้รับการยกย่องจาก องค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" ด้านงานวรรณกรรม เมื่อ พ.ศ. 2529

ประวัติ สุนทรภู่ กวี 4 แผ่นดิน

พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ เกิดในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบันนี้) ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 69 ปี

บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง มารดาเป็นชาวเมืองอื่น สุนทรภู่เกิดเมื่อหลังจากได้สร้างกรุงเทพมหานครแล้ว 4 ปี ภายหลังบิดามารดาได้หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำอันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง

เมื่ออายุได้ 2 ขวบ มารดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว (ต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย) 

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมอาลักษณ์ได้เป็นขุนสุนทรโวหาร ระหว่างรับราชการต้องจำคุกเพราะถูกอุทธรณ์ว่า เมาสุราทำร้ายญาติผู้ใหญ่ ภายหลังพ้นโทษได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ออกจากราชการและออกบวช เมื่อลาสิกขาแล้วถวายตัวอยู่กับพระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้ปีหนึ่ง ครั้นเจ้านายพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่ก็ขาดที่พึ่งได้รับความยากลำบากต้องลอยเรืออยู่และแต่งหนังสือขายเลี้ยงชีวิต ต่อมาจึงได้รับพระอุปถัมภ์จากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 สุนทรภู่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น "พระสุนทรโวหาร" เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตในปี พ.ศ.2398 ขณะที่อายุ 69 ปี ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากสุนทรภู่ (ภู่) จะได้รับนามสกุล คือ "ภู่เรือหงส์" และเนื่องจากท่านสุนทรภู่มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้รับสมญานามว่า "กวีสี่แผ่นดิน"

ตัวอย่างผลงานด้านวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ 

ผลงานประเภทนิราศ

-นิราศเมืองแกลง (พ.ศ.2349) แต่งขึ้นหลังพ้นโทษจากคุกและเดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง

-นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) แต่งขึ้นหลังจากกลับจากเมืองแกลง และตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา

-นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) แต่งขึ้นโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา

-นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) แต่งขึ้นเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่ จ.สุพรรณบุรี เป็นผลงานเพียงเรื่องเดียวของท่านสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง

-นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าคือวัดใด) ที่จ.พระนครศรีอยุธยา

-นิราศอิเหนา คาดว่าแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา

-รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) แต่งขึ้นเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่า ชะตาขาด จึงได้บันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงได้ลาสิกขา

-นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) เชื่อว่าแต่งขึ้นหลังจากลาสิกขาแล้วและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี จ.นครปฐม

-นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร

ผลงานประเภทนิทาน

เรื่อง โคบุตร, พระอภัยมณี, พระไชยสุริยา, ลักษณวงศ์ และสิงหไกรภพ เป็นต้น

ผลงานประเภทสุภาษิต

-สวัสดิรักษา คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์

- เพลงยาวถวายโอวาท คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

ผลงานประเภทบทละคร

- เรื่องอภัยณุรา เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผลงานประเภทบทเสภา

- เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)

- เรื่องพระราชพงศาวดาร

ผลงานประเภทบทเห่กล่อม

แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่ามี 4 เรื่องด้วยกัน คือ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร และเห่เรื่องกากี