บทกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล สมบูรณ์ที่สุด พร้อมคำแปล

13 ต.ค. 2566 | 14:31 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2566 | 15:04 น.
51.1 k

บทกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล สมบูรณ์ที่สุด พร้อมคำแปล สำหรับพุทธศาสนิกชนใช้สวดหลังการทำบุญ สร้างกุศล พร้อมประวัติความเป็นมาของการกรวดน้ำ เฉลยที่มาทำไมต้องเทน้ำลงดิน

การกรวดน้ำ หรือ การอุทิศส่วนกุศล เป็นขั้นตอนหนึ่งในการทำบุญสร้างกุศลของชาวพุทธ แต่หลายคนอาจไม่เข้าใจความหมาย และที่มาที่ไปของการกรวดน้ำ หรือ การอุทิศส่วนกุศล ฐานเศรษฐกิจ จึงนำประวัติความเป็นมาของการกรวดน้ำ หรือ การอุทิศส่วนกุศล รวมถึงบทกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล สมบูรณ์ที่สุด พร้อมคำแปล เพื่อความเข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง

ที่มาของการกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล 

ในสมัยพุทธกาลมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายเวฬุวนอุทยานแก่พระพุทธเจ้าเพื่อเป็นพระอาราม ปรากฏว่าในคืนนั่นพระเจ้าพิมพิสารได้ยินเสียงร้องประหลาดอันน่าสะพรึงกลัว

วันต่อมาจึงได้ไปเข้าเฝ้าและเล่าเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้าฟัง พระพุทธองค์จึงทรงอธิบายว่า เสียงที่ได้ยินนั้น คือเสียงของพระญาติในอดีตอันไกลโพ้นของพระเจ้าพิมพิสารที่บังเกิดไปเป็นเปรต เพราะพระองค์ทำบุญแล้วไม่ได้อุทิศให้

รุ่งขึ้นอีกวัน พระเจ้าพิมพิสารจึงได้อาราธนาพระพุทธเจ้าไปรับทานอีกครั้ง เมื่อเสร็จแล้วก็ได้อุทิศบุญดังกล่าวด้วยการหลั่งทักษิโณทก จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าเพียงแต่แนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับในอดีตชาติ แต่การหลั่งทักษิโณทกของพระเจ้าพิมพิสารได้กลายมาเป็นประเพณีของชาวพุทธในการกรวดน้ำหลังให้ทานนับแต่นั้นมา

พระเจ้าพิมพิสารทรงบำเพ็ญกุศลให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต เปรตทั้งหลายต่างโมทนารับส่วนบุญ (วาดโดย ครู เหมเวชกร)

"ทักษิโณทก" ในภาษาไทยใช้ 3 ความหมายคือ 

1. น้ำที่หลั่งในเวลาทำบุญเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย
2. น้ำที่ใช้เทลงไปเพื่อแสดงว่า ให้ ใช้กับสิ่งของที่ใหญ่หรือไม่มีรูปที่จะหยิบยกได้ เช่น วัด บุญกุศล
3. น้ำที่หลั่งเพื่อแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด เช่น พระเวสสันดรหลั่งทักษิโณทกเพื่อยกกัณหาชาลีให้ชูชก

โดยในภาษาสันสกฤต ทกฺษิณา แปลว่า ของทำบุญ ส่วนคำว่า อุทก แปลว่าน้ำ

ทำไมต้องกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล ลงพื้นดิน

ประเพณีการกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล ลงพื้นดินคาดว่ามาจากการทำให้เสมือนให้พระแม่ธรณีเป็นพยานในการทำบุญเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนจะสำเร็จสัมโพธิญาณหรือตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

โดยพระองค์ได้ละมือข้างหนึ่งจากท่านั่งสมาธิ ชี้ปลายนิ้วแตะพื้นที่นั่งแล้วเอ่ยอัญเชิญพระแม่ธรณีขึ้นมาเป็นพยานถึงบุญบารมีที่พระองค์ได้บำเพ็ญสะสมมาแล้วหลายชาติภพ พระแม่ธรณีก็ได้มาปรากฎกาย แล้วบีบมวยผมให้น้ำที่พระพุทธองค์เคยกรวดน้ำในการทำบุญมาแล้วทุกชาติทุกภพหลั่งออกมา จนท่วมซัดเหล่าทัพพญามารแตกพ่ายไป จากการที่พญามารได้นำทัพมาขัดขวาง และกล่าวดูหมิ่นพระองค์

พระแม่ธรณีทรงแสดงปาฏิหาริย์ ปราบเหล่าพญามารโดยทรงบีบมวยผมให้น้ำไหลออกมาท่วม พวกพญามารทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไป (วาดโดย)

บทกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล "ยถา-สัพพี"

บทสวดแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว (อนุโมทนารัมภาคาถา)
     ยถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง (ห้วงน้ำที่เติมเต็มมหาสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด)
     เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ (ทานที่ท่านอุทิศในครั้งนี้ ย่อมนำประโยชน์อันเต็มเปี่ยม ส่งให้กับผู้ล่วงลับไปแล้วได้บริบูรณ์ฉันนั้น)
     อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ (ขอให้ผลบุญที่ท่านปรารถนา ตั้งใจ จงสำเร็จโดยพลัน)
     สัพเพ ปูเรนติ สังกัปปา (ขอให้บุญทั้งปวงนี้จงมีผลบริบูรณ์)
     จันโท ปัณณะระโส ยถา มะณิ โชติระโส ยถา (ดั่งพระจันทร์วันเพ็ญ และดั่งอัญมณีอันสว่างไสว)

บทสวดอวยพรแก่ผู้ทำบุญ (สามัญญานุโมทนาคาถา)
     สัพพีติโย วิวัชชันตุ (ขอให้สิ่งร้ายจัญไรทั้งปวงจงหายไปจากท่าน)
     สัพพะโรโค วินัสสะตุ (ขอให้โรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงจงหายไปจากท่าน)
     มาเต ภะวัตวันตะราโย (ขอให้ภยันตรายทั้งปวงจงหายไปจากท่าน)
     สุขี ทีฆายุโก ภะวะ (ขอให้ท่านมีความสุข และอายุยืนยาว)
     อะภิวาทะนะ สีลสสะ นิจจัง วุฑาฒาปะจายิโน (ขอให้ท่านเคารพต่อผู้มีวัยวุฒิ อาวุโส และปฏิบัติตามศีล)
     จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง (ขอให้ท่านเจริญด้วยพร ๔ ประการ คือ อายุยืน ผิวพรรณผ่องใส มีความสุขและสุขภาพแข็งแรง บทสัพพีนี้ พระท่านจะสวด ๓ จบ)

บทกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล ด้วยตัวเอง พร้อมคำแปล

อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร (ขอส่วนบุญนี้, จงสำเร็จแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ,ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข)

อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย (ขอส่วนบุญนี้, จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข)

อิทัง เม คะรุปัชฌายาจะริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คะรุปัชฌายาจะริยา (ขอส่วนบุญนี้, จงสำเร็จแก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า จงมีความสุข)

อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา (ขอส่วนบุญนี้, จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลาย ขอให้เทวดาทั้งหลาย จงมีความสุข)

อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา (ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ขอให้เปรตทั้งหลาย จงมีความสุข)

อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี (ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงมีความสุขเถิด ฯ)

บทกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล ด้วยตัวเอง พร้อมคำแปล ฉบับย่อ

อิทังเม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย (ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุขเถิดฯ)

บทกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล ด้วยตัวเอง พร้อมคำแปล ฉบับเต็ม

อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา 

(ด้วยบุญนี้ อุททิศให้ อุปัชฌาย์ ผู้เลิศคุณ)

อาจะริยูปะการาจะ มาตาปิตา จะ ญาตะกา  (ปิยา มะมัง) 
(และอาจารย์ ผู้เกื้อหนุน ทั้งพ่อแม่ และปวงญาติ)

สุริโย จันทิมา ราชา คุณะวันตา นะราปิ จะ 
(สูรย์จันทร์ และราชา ผู้ทรงคุณหรือสูงชาติ)

พรัหมะมารา จะ อินทา จะ โลกะปาลา จะ เทวะตา 
(พรหม มาร และอินทราช ทั้งทวยเทพ และโลกบาล)

ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ
(ยมราช มนุษย์มิตร ผุ้เป็นกลาง ผู้จองผลาญ)

สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ ปุญญานิ ปะกะตานิ เม 
(ขอให้สุขศานติ์ทุกทั่วหน้า อย่าทุกข์ทน บุญผองที่ข้าทำจงอำนวยศุภผล)

สุขัง จะ ติวิธัง เทนตุ ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตัง 
(ให้สุขสามอย่างล้น ให้ลุถึงนิพพานพลัน)

 อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อิมินา อุททิเสนะ จะ 
(ด้วยบุญนี้ที่เราทำ และอุทิศให้ปวงสัตว์)

ขิปปังหัง สุละเภ เจวะ ตัณหุปาทานะเฉทะนัง 
(เราพลันได้ ซึ่งการตัด ตัวตัณหา อุปาทาน)

เย สันตาเน หินา ธัมมา ยาวะ นิพพานะโต มะมัง 
(สิ่งชั่วในดวงใจ กว่าเราจะถึงนิพพาน)

นัสสันตุ สัพพะทา เยวะ ยัตถะ ชาโต ภะเว ภะเว 
(มลายสิ้นจากสันดาน ทุกๆ ภพ ที่เราเกิด)

อุชุจิตตัง สะติปัญญา สัลเลโข วิริยัมหินา 
(มีจิตตรง และสติปัญญาอันประเสริฐ พร้อมทั้งความเพียรเลิศเป็นเครื่องขูดกิเลสหาย)

มารา ละภันตะ โนกาสัง กาตุญจะ วิริเยสุ เม 
(โอกาสอย่าพึงมี แก่หมูมารทั้งสิ้นทั้งหลาย เป็นช่อง ประทุษร้ายทำลายล้างความเพียรจม)

พุทธาทิปะวะโร นาโถธัมโม นาโถ วะรุตตะโม 
(พระพุทธผู้วรนาถ พระธรรมที่พึ่งอุดม)

นาโถ ปัจเจกะพุทโธ จะ สังโฆ นาโถตตะโร มะมัง 
(พระปัจเจกะพุทะสมทบ พระสงฆ์ ที่ผึ่งพยอง)

เตโสตตะมานุภาเวนะ มาโรกาสัง ละภันตุ มา 
(ด้วยอานุภาพนั้น อย่าเปิดโอกาสให้แก่มาร  เทอญ)

ทั้งนี้ การกรวดน้ำนั้น อาจปฏิบัติได้ 2 แบบคือ กรวดน้ำเปียก โดยมีการเทน้ำสู่ภาชนะ หรือเทลงพื้นดิน และ การกรวดน้ำแห้ง คือ การตั้งจิตอธิษฐานอุทิศกุศลให้กับผู้ล่วงลับโดยไม่ต้องใช้น้ำ

ที่มา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ,วัดป่ามหาชัย ,สำนักงานพระพุทธศาสนา