“สลักดุล”หัตถกรรมไทยเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศนำร่องญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

09 ส.ค. 2566 | 15:53 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2566 | 16:03 น.

รู้จัก“สลักดุล”หัตถกรรมไทยที่ยากและหาคนทำได้น้อยในไทย “sacit”ส่งเสริมและรุกตลาดต่างประเทศ ประเดิม ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ชี้ต่างชาติชื่นชอบผลงานไทย ตั้งเป้ารายได้โตเท่าตัว

 นายศิวกร รอดเริง  ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เปิดเผยถึงหลังได้รับยกย่องเชิดชูเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี66 ที่สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit สร้างโอกาสในการนำผลงานสลักดุลไปเผยแพร่และจัดจำหน่ายภายในงานอัตลักษ์แห่งสยามครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา

นายศิวกร รอดเริง  ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม

ซึ่งถือเป็นการออกบูธแสดงผลงานครั้งแรก นอกจากได้โอกาสในการเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ แล้ว ยังสร้างโอกาสในการเรียนรู้ดูงานศิลป์ประเภทอื่นๆ ซึ่งจะทำให้สามารถนำประสบการณ์เหล่านี้ไปต่อยอดงานสลักดุลดียิ่งขึ้นต่อไป

 

“เป้าหมาย คือ ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นและฝรั่งเศส  เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของงานสลักดุล คือ ต่างชาติในแถบยุโรปและญี่ปุ่นที่ชื่นชอบงานสลักดุลภาพเหมือนบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง โดยสังเกตว่าในจังหวัดท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ซึ่งมีงานประเภทนี้ค่อนข้างเยอะและต่างชาติให้ความสนใจกับงานหัตถกรรมทำให้มองว่าหัตถกรรมไทยยังมีเสน่ห์และสามารถดึงดูดกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวได้

“สลักดุล”หัตถกรรมไทยเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศนำร่องญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส

ทั้งนี้ตั้งเป้ารายได้หลังจากไปเจาะตลาดต่างประเทศต้องโตเป็นเท่าตัว โดยปัจจุบันสามารถผลิตชิ้นงานได้4-5ชิ้นต่อปี โดยแต่ละชิ้นจะใช้เวลาในการทำ4-5เดือน เฉลี่ยราคาหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท ทั้งนี้มั่นใจว่าจะทำให้ต่างชาติรู้จักว่างานสลักดุลรูปแบบนี้เป็นงานฝีมือคนไทยมากขึ้น”

โดยรูปแบบงานสลักดุลภาพบุคคลเหมือนจริงถือว่าเป็นงานหัตถกรรมที่ยากและหาคนทำได้ยากในไทย  โดยงานสลักดุลเป็นงานโลหะที่ใช้การสลัก ใช้สิ่วเดินเส้นให้เกิดเป็นลวดลาย และใช้กระบวนการดุล หรือการดันข้างหลังแผ่นที่สลักลงไปให้เกิดมิติสูงต่ำตามแบบ ซึ่งงานสลักดุลส่วนใหญ่ในตลาดเป็นประเภทงานเครื่องเงินโบราณ งานทองโบราณที่แพร่หลาย

โดยปัจจุบันมีกลุ่มที่ชอบงานแนว Chasing and Repousse (งานสลักดุล) ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศยังพบว่ามีการผลิตผลงานประเภทนี้น้อยมาก ทำให้งานหัตถกรรมไทยอย่างสลักดุลที่มีเอกลักษณ์ ยังมีโอกาสต่อยอดในตลาดการค้าต่างประเทศ