กาแฟแต่งกลิ่น สู่ “กาแฟนอกกรอบ” ทางเลือกใหม่มัดใจคอกาแฟ

26 ก.ค. 2566 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2566 | 23:17 น.
1.7 k

กาแฟอินทรีย์บ้านแม่รวม จังหวัดเชียงใหม่ ผุดนวัตกรรม “กาแฟแต่งกลิ่นผลไม้” ทางเลือกใหม่สำหรับวงการธุรกิจกาแฟและคอกาแฟรุ่นใหม่

จุดริเริ่มของกาแฟแต่งกลิ่น
กาแฟแต่งกลิ่น คือการใส่ส่วนผสมอื่นๆ เข้าไปในขั้นตอนของการคั่วกาแฟ เพื่อให้เกิดกลิ่นและรสชาติแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งการทำกาแฟแต่งกลิ่นนั้นมีมานานแล้ว และแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยการแต่งกลิ่นกาแฟเริ่มมาจากการหาวิธีถนอมอาหารรูปแบบหนึ่ง เพื่อไม่ให้เมล็ดกาแฟที่จัดเก็บไว้เหม็นหืนและสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานขึ้น ทั่วไปมักจะใช้น้ำตาลทรายและเนยเทียมในระหว่างการคั่วกาแฟ แต่เป็นการมุ่งทำเพื่อถนอมอาหารมากกว่าเพื่อเพิ่มรสชาติ

มุมมองของคอกาแฟ ต่อกาแฟแต่งกลิ่น
เมื่อพูดถึงกาแฟแต่งกลิ่น แบรนด์ธุรกิจกาแฟที่มีชื่อเสียงเองก็มีการนำเสนอกาแฟแคปซูลคั่วบดกลิ่นต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ชอบดื่มกาแฟที่มีกลิ่นหอมตามความชอบ แต่ในวงการคนที่นิยมดื่มกาแฟหรือคอกาแฟก็มีหลายมุมมอง ทั้งมุมที่มองว่ากาแฟแต่งกลิ่นเป็นการทำให้รสชาติ กลิ่น และเอกลักษณ์ของกาแฟลดหายไป มุมที่มองว่าการแต่งกลิ่นกาแฟเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับกาแฟที่เกรดไม่สูง และมุมที่พร้อมเปิดประสบการณ์การดื่มกาแฟรูปแบบใหม่ 

ซึ่งหากเหล่าคอกาแฟที่ชื่นชอบ หรือคนนอกวงการกาแฟที่อยากค้นหาการนำเสนอรสชาติแบบใหม่ของกาแฟ การจะเปิดใจเลือกกาแฟแต่งกลิ่นสักประเภทมาลิ้มลองก็ล้วนแล้วแต่มีมาตรฐานในการเลือก อาทิ แหล่งที่ปลูก อุณหภูมิ สภาพอากาศ ขั้นตอนการคั่ว และพิจารณาจากสารแต่งกลิ่นว่ามาจากธรรมชาติหรือเป็นสารสังเคราะห์ เนื่องจากหากได้รับสารเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา  
 

กาแฟแต่งกลิ่น สู่ “กาแฟนอกกรอบ” ทางเลือกใหม่มัดใจคอกาแฟ

แหล่งปลูกกาแฟอินทรีย์ ตำบลแม่รวม อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อพูดถึงวัตถุดิบที่นิยมนำมาแต่งกลิ่นกาแฟ หลักๆ จะประกอบไปด้วย คาราเมล น้ำผึ้ง ถั่ว เปปเปอร์มินต์ และเครื่องเทศต่างๆ แต่ยังไม่ค่อยมีการแต่งกลิ่นกาแฟเป็นดอกไม้หรือผลไม้เท่าไหร่นัก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งปลูกกาแฟอินทรีย์ อย่างพื้นที่ตำบลแม่รวม อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำแม่รวม ในปีนี้ได้รับความสนใจจากวงการกาแฟของภาคเหนือ โดยชาวบ้านแม่รวมได้มีการปลูกกาแฟใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ทำกันมานานแล้ว รวมถึงไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ เพราะแหล่งปลูกกาแฟตั้งอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำที่ชาวบ้านมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ และมีคำยึดมั่นที่ว่า “เคารพป่า ป่าให้ชีวิต” 


พอกาแฟของบ้านแม่รวมลงดอยมา จึงเป็นอีกหนึ่งกาแฟที่หลายคนอยากลิ้มลอง เมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีจุดเด่นที่น่าสนใจอยู่ที่การนำเอานวัตกรรมใหม่มาสร้างเป็นกาแฟแต่งกลิ่นด้วย ไม่ได้พิถีพิถันเฉพาะแค่ขั้นตอนการผลิตเมล็ดกาแฟและการคั่วกาแฟ แต่มีการนำรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกาแฟมาผสมผสานกับกลิ่นหอมของผลไม้ชนิดต่างๆ เป็นแนวคิดนอกกรอบที่จะนำกาแฟคุณภาพดีมาเจาะตลาดกาแฟ ให้ตอบโจทย์รสนิยมการดื่มของคอกาแฟที่หันมาให้ความสนใจกับกาแฟแต่งกลิ่นกันมากขึ้น 

กาแฟแต่งกลิ่น สู่ “กาแฟนอกกรอบ” ทางเลือกใหม่มัดใจคอกาแฟ

กาแฟแต่งกลิ่น แบรนด์ FeEL CoFF 
คุณศักดิ์สิทธิ์ อยู่คง เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟและเจ้าของแบรนด์ “FeEL CoFF” ให้นิยามของ “กาแฟนอกคอก” ที่มาจากแนวคิดที่ว่า กาแฟที่ผ่านการแต่งกลิ่น เป็นกาแฟนอกกระแสที่ใช้เมล็ดกาแฟเก่า หรือเกรดไม่สูงมาทำ รวมถึงเป็นการทำให้สูญเสียรสชาติที่แท้จริงของกาแฟไว้ว่า เมล็ดกาแฟที่แบรนด์ของตนเลือกใช้เป็นเมล็ดกาแฟที่ดี มีความสมบูรณ์ และที่สำคัญยังเป็นเมล็ดกาแฟอินทรีย์ที่ปลูกภายใต้ร่มไม้ใหญ่ในป่าแม่รวม สูงจากระดับน้ำทะเล 950 เมตร 


หลายปีมานี้ตนได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่การปลูกกาแฟ หวังจะสร้างเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่บริสุทธิ์ ปลอดสารเคมี และพยายามตอบโจทย์ความต้องการของตลาดกาแฟแนวใหม่ให้มีคุณภาพ เพื่อต่อยอดไปถึงการสร้างบุคลิกของกาแฟแต่งกลิ่น ด้วยวิธีการฉีดรสผลไม้จากความเชี่ยวชาญส่วนตัวในขั้นตอนของการคั่วกาแฟ และจะเริ่มนำร่องผลิตกาแฟแต่งกลิ่นออกมาให้หลากหลายรสชาติ โดยแบ่งออกเป็น 4 รสชาติ ได้แก่ ทุเรียน พีช เบอร์รี่ และกุหลาบลิ้นจี่ ซึ่งสามารถชงดื่มได้ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ตามความชอบของแต่ละบุคคล 


สำหรับเมนูร้อนจะเลือกแต่งกลิ่นเฉพาะเมล็ดกาแฟคั่วอ่อน และกาแฟคั่วกลางจะเลือกใช้ทั้งสำหรับเมนูร้อนและเย็น ส่วนกาแฟคั่วเข้ม หลังจากได้มีการทดลองพบว่ารสชาติยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เนื่องจากรสของผลไม้จะถูกรสขมของกาแฟกลบจนหมด 

กาแฟแต่งกลิ่น สู่ “กาแฟนอกกรอบ” ทางเลือกใหม่มัดใจคอกาแฟ

 

ท้าชน กาแฟนอกคอก สู่ กาแฟนอกกรอบ
คุณศักดิ์สิทธิ์ทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้คอกาแฟคาดหวังในรสชาติของกาแฟนอกคอก ว่าจะต้องมีรสชาติที่อร่อยถูกใจทุกกลุ่ม หรือตัดสินรสชาติกาแฟจากความชื่นชอบของแต่ละคน เพราะรสนิยมของคนที่ดื่มกาแฟนั้นมีความแตกต่าง และมีวัตถุประสงค์ในการดื่มที่ไม่เหมือนกัน


ตนอยากให้มองว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการกาแฟที่กล้าท้าทายและคิดนอกกรอบ ส่วนผลตอบรับจะออกมาอย่างไร ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ พร้อมคาดหวังว่าสักวันกาแฟแต่งกลิ่นที่หลายคนเรียกว่า “กาแฟนอกคอก” จะได้รับการเปิดใจ และมองว่ากาแฟแต่งกลิ่นเป็น “กาแฟนอกกรอบ” อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ชอบดื่มกาแฟ และเพื่อให้ผู้ประกอบการในวงการกาแฟได้ลองหันมาเปิดธุรกิจด้านกาแฟแต่งกลิ่นเพิ่มมากขึ้น