โคราช ขุดพบ ทับหลังลายสิงห์ - ศิวลึงค์ อายุกว่า 1,000 ปี

27 พ.ค. 2566 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2566 | 14:04 น.
570

สำนักงานศิลปากร นครราชสีมา ขุดพบ "ทับหลังลายสิงห์" และ “ศิวลึงค์” อายุกว่า 1,000 ปี ที่ปราสาทบ้านบุใหญ่ โคราช

สำนักศิลปากรที่10 นครราชสีมา ดำเนินโครงการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทบ้านบุใหญ่ ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และได้ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญ ได้แก่ “ทับหลังลายสิงห์ถือท่อนพวงมาลัย” ในสภาพสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16-17 และขุดพบ “ศิวลึงค์” มีสภาพสมบูรณ์เช่นกัน อายุกว่า 1,000 ปี ที่ปราสาทบ้านบุใหญ่ 

 

การขุดพบศิวลึงค์ครั้งนี้ บ่งบอกว่าปราสาทบ้านบุใหญ่นั้นครั้งหนึ่งเคยเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์มาก่อน คาดว่าเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณ สิ่งก่อสร้างเป็นศิลปะเขมรแบบบาปวน–นครวัด โครงสร้างใช้หินทรายบริเวณแหล่งหินตัด อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งเดียวกันกับปราสาทหินพิมายเป็นวัสดุหลัก รูปเคารพกำหนดอายุเก่าแก่ประมาณ 1,000 ปี เทียบปัจจุบัน 

โคราช ขุดพบ ทับหลังลายสิงห์ - ศิวลึงค์ อายุกว่า 1,000 ปี

สำหรับปราสาทบ้านบุใหญ่ มีสภาพทั่วไปเป็นเนินเล็กๆ มีก้อนหินทรายพังทลายกระจัดกระจายตามบริเวณโดยรอบ ไม่เหลือรูปทรงของอาคารสถาปัตยกรรม ทางสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา จะทำการศึกษาโดยนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาสู่แนวทางในการบูรณะปราสาทบ้านบุใหญ่ให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง
 

อนึ่งข้อมูลเพิ่มเติมจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ได้เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวการพบศิวลึงค์ โดยระบุว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นข้อมูลจิ๊กซอว์สำคัญที่จะทำให้สามารถไขประตูแห่งกาลเวลาของปราสาทบ้านบุใหญ่นี้ได้ พร้อมกันนี้ยังนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้นพบโกลนทับหลัง

โคราช ขุดพบ ทับหลังลายสิงห์ - ศิวลึงค์ อายุกว่า 1,000 ปี

สำหรับโกลนทับหลังที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ เป็นทับหลังที่อยู่ในขั้นตอนการสลักภาพร่างและผลิต ตรงกลางของทับหลังสลักเป็นภาพสิงห์ยืนคายท่อนพวงมาลัย ด้านบนท่อนพวงมาลัยสลักเป็นลวดลายใบไม้ตั้งขึ้น ด้านล่างสลักเป็นลายใบไม้ม้วน จากรูปแบบศิลปะสามารถกำหนดอายุได้ว่าโกลนทับหลังชิ้นนี้มีอายุในราวช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 - พุทธศตวรรษที่ 17


 

การค้นพบโกลนทับหลังสำคัญอย่างไร ?
การค้นพบนี้ช่วยเป็นข้อมูลที่สำคัญที่ทำให้สามารถกำหนดอายุของปราสาทได้ร่วมกับบริบทของหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ นอกจากนี้การพบโกลนทับหลังยังแสดงให้เห็นว่าปราสาทหลังนี้ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยมีนักวิชาการได้สันนิษฐานถึงการสลักลวดลายที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ของปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณนี้ว่า 

โคราช ขุดพบ ทับหลังลายสิงห์ - ศิวลึงค์ อายุกว่า 1,000 ปี

"ลวดลายที่สลักไม่แล้วเสร็จเหล่านี้สะท้อนถึงปริมาณของช่างสลักและระบบการจัดการงานช่างได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ จำนวนช่างสลักคงมีจำนวนไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกระบวนการที่เรียกว่าเดินสายทำงาน เมื่อช่างจำเป็นต้องเริ่มงาน ณ ปราสาทหลังใหม่ งานของปราสาทหลังเก่าจึงยังคงค้างคาไม่แล้วเสร็จ"

 

สำหรับปราสาทบ้านบุใหญ่ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กำลังดำเนินโครงการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทบ้านบุใหญ่ ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมาเพื่อนำข้อมูลมาเป็นแนวทางในการบูรณะปราสาทบ้านบุใหญ่ให้สวยงามและเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจของคนสูงเนินและคนไทยสืบไป

โคราช ขุดพบ ทับหลังลายสิงห์ - ศิวลึงค์ อายุกว่า 1,000 ปี