“ภูนีต นารัง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) หรือ DMHT กล่าวว่า ในปีนี้ ดิอาจิโอให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน ภายใต้ 3 แกนหลัก คือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ซึ่งสอดรับกับเป้าหมาย 10 ปีด้านความยั่งยืน หรือ SOCIETY 2030: SPIRIT OF PROGRESS ที่ดิอาจิโอให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ การส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบ การส่งเสริมด้านความหลากหลาย และการเป็นผู้บุกเบิกด้านความยั่งยืนในทุกขั้นตอนการผลิต
สำหรับบรรจุภัณฑ์ ดิอาจิโอเดินหน้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้จับมือกับ AIR-INK® นำศิลปินดัง 6 เมือง 6 ประเทศ ร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนขวด Johnnie Walker รุ่น Limited Edition ด้วยน้ำหมึกที่ทำจากฝุ่น พร้อมดึงศิลปินไทยรุ่นใหม่ร่วมสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างผลงานศิลปะด้วยหมึกจากฝุ่นในงาน Keep Walking Bangkok ที่ The Jam Factory ย่านคลองสาน ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม-16 กันยายน 2565
ศิลปินดังใน 6 เมือง 6 ประเทศ
ได้แก่ ศิลปินจากกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ มาดริด จากสเปน เม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก เมืองเดลี ประเทศอินเดีย อิสตันบูล ประเทศตุรกี และกรุงเทพมหานคร ได้ ก้องกาน-กันตภณ เมธีกุล เข้าร่วมทีม
ส่วน AIR-INK® เป็นแบรนด์น้ำหมึกที่ผลิตจากฝุ่นควัน ร่วมกับ Graviky Labs ห้องแล็บซึ่งวิจัยดักจับคาร์บอนหรือควันพิษในอากาศ ผลิตเป็นหมึกพิมพ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมา ดิอาจิโอได้เดินหน้าความยั่งยืน โดยการร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ Pilot Lite จัดตั้งบริษัท Pulplex Limited เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มรูปแบบใหม่ที่ไม่มีการใช้พลาสติกแบบ 100% มาใช้วัตถุดิบหลักคือกระดาษที่ผลิตจากไม้ ที่มีกระบวนการในการนำมาใช้อย่างยั่งยืน บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวเริ่มนำมาใช้กับจอห์นนี่ วอล์กเกอร์เป็นแบรนด์แรก โดยเริ่มวางจำหน่ายช่วงต้นปี 2564
ดิอาจิโอ ยังร่วมมือกับ ecoSPIRITS บริษัทเทคโนโลยีผู้ผลิตโซลูชันบรรจุภัณฑ์หมุนเวียน ดำเนินโครงการนำร่องใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เริ่มต้นด้วยแบรนด์สเมอร์นอฟ และกัปตัน มอร์แกน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งหวังขยายผลโครงการทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอนาคต รวมถึงการร่วมมือกับบางกอกฟลาวเออร์เซ็นเตอร์ สนับสนุนการนำขวดใช้แล้วของจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ มาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,814 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2565