เกาะติด! ศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC กับมาตรฐานสวัสดิภาพไก่? เพื่อผู้บริโภค

21 ส.ค. 2565 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2565 | 18:48 น.
1.1 k

จากกระแสข่าว บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD มีแผนจะขายธุรกิจแฟรนไชส์ของเคเอฟซีในประเทศไทย คิดเป็นวงเงินราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานไปก่อนหน้านี้ ทำให้เป็นที่จับตาในกระแสธุรกิจ

มูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับการบริหารสาขาราว 240 ที่ KFC ในประเทศไทย คือส่วนที่ RD ต้องการขายสิทธิ์การบริหารกิจการ หากมีการปิดดีลธุรกิจสำเร็จบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป หรือ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทย อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว จะกลายมาเป็นผู้ถือครองสิทธ์แฟรนไชส์ KFC เจ้าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

 

แต่กระนั้นในมุมมองความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคมต่อแหล่งที่มาของเนื้อไก่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงนโยบายที่คำนึงถึงการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ จะยังมีความหวังอยู่หรือไม่

เกาะติด! ศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC กับมาตรฐานสวัสดิภาพไก่? เพื่อผู้บริโภค
 

KFC แบรนด์ไก่ทอดระดับโลกยอดนิยมของคนไทยนั้น ซึ่งมี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นเจ้าของและดำเนินการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ ซึ่งมีสาขาทั้งหมด 22,621 สาขา (ปี พ.ศ. 2562) กระจายอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีเกือบ 1,000 สาขา ซึ่งทำให้ KFC สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่อีกมุมของโลกการบริโภคอย่างยั่งยืนได้กลายเป็นกระแสที่ผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญ โดยแบรนด์ในดวงใจต้องเป็นแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภค รวมถึงการใส่ใจถึงแหล่งที่มาของไก่ คุณภาพชีวิตของไก่ ไก่ต้องแฮปปี้ มีสวัสดิภาพที่ดี ก่อนที่จะกลายมาเป็นเมนูไก่แสนอร่อยบนจานอาหาร

 

ปลายปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคในฝั่งประเทศยุโรปกว่า 5 แสนคน เรียกร้องให้แฟรนไชส์ซี KFC ใส่ใจสวัสดิภาพไก่และให้ความสำคัญกับแหล่งที่มา จนในที่สุดแฟรนไชส์ซี KFC ในยุโรป 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์, เยอรมนี เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, สวีเดน, เดนมาร์ก, และฝรั่งเศส ได้ให้คำมั่นต่อสาธารณะที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของไก่ให้ดีขึ้นภายในปี พ.ศ.2569 นับเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ที่จะช่วยชีวิตไก่ได้หลายล้านตัวให้รอดพ้นจากความทุกข์ทรมานจากปัญหาหัวใจ ปอด และกระดูกจากการเลี้ยงไก่แบบเร่งโต 


ในขณะที่ KFC ในประเทศไทย ถูกจัดอันดับในรายงาน The pecking order 2021 ของ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ว่ามีนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์อยู่ในระดับ “แย่ที่สุด” 2 ปีติดต่อกัน รวมทั้งยังเพิกเฉยต่อเสียงผู้บริโภคชาวไทยกว่า 20,000 คนที่เรียกร้องให้เปิดเผยถึงแหล่งที่มาของไก่ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารรวมถึงนโยบายต่างๆ เพื่อยกระดับสวัสดิภาพไก่

 

นางเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า ข่าวการเปลี่ยนแฟรนไชส์ซี KFC ประเทศไทย ไม่ว่าการเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่จะเป็นเจ้าไหน เจ้าของแฟรนไชส์ชี KFC ใหม่จะต้องรีบประกาศทิศทางการประกอบธุรกิจที่สอดคล้องประโยชน์ของผู้บริโภค และมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิภาพไก่ เพราะในแต่ละปี ผู้บริโภคคนไทยกินไก่ KFC ถึง 300 ล้านชิ้น KFC ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนเองว่ามีการคัดเลือกแหล่งที่มาของไก่อย่างไร

 

รวมถึงเร่งประกาศนโยบายเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพไก่แก่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นการสะท้อนภาพการเป็นผู้นำธุรกิจฟาสต์ฟู้ดอย่างแท้จริง ที่ดำเนินธุรกิจโดยไม่เพียงแค่คำนึงถึงผลเร่งขยายสาขาและเพิ่มยอดขาย แต่หากต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และมิติของความยั่งยืน รวมทั้งเทรนด์โลกที่ผู้บริโภคมีความใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้นด้วย

 

หากวิเคราะห์ถึงศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC ระหว่าง ไทยเบฟกับเซ็นทรัล เทียบกับความต้องการของผู้บริโภคเรื่องสวัสดิภาพไก่ ที่ไม่อยากเห็นความทุกข์ทรมานของสัตว์ก่อนกลายมาเป็นอาหาร ก็ยังไม่เห็นทิศทางการดำเนินงานหรือนโยบายที่คำนึงถึงสวัสดิภาพไก่ที่นำมาเป็นวัตถุดิบหลัก ในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินกิจการแฟรนไชส์ซี KFC ที่ผ่านมา

 

ภายใต้การบริหารใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นโอกาสให้เกิดทิศทางในการยกระดับสวัสดิภาพไก่ตามเทรนด์ของโลก ที่คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยั่น