กฎควบคุมหุ่นยนต์ข้อที่ศูนย์ ของไอแซค อาซิมอฟ 

06 ส.ค. 2565 | 07:56 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2565 | 15:03 น.

การแข่งขันหมากรุกระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ในงานมอสโค เชส โอเพน 2022 เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม ที่ประเทศรัสเซีย เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเมื่อคริสโตเฟอร์

นักหมากรุกวัย 7 ขวบ ขยับนิ้วเดินหมากเร็วเกินไปทำให้แขนกลเล่นหมากรุกเกิดเข้าใจผิดว่า เป็นตัวหมาก จึงคีบนิ้วอย่างแรงส่งผลให้กระดูกนิ้วของเด็กชายแตกร้าว

 

ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ([email protected]) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT เล่าว่า อันตรายจากหุ่นยนต์ถึงขั้นเสียชีวิตเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก ในปี ค.ศ. 2015 ที่โรงงานโฟล์คสวาเกน ประเทศเยอรมนี  พนักงานซ่อมแซมแขนกลประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ได้ตั้งค่าผิดพลาดทำให้ถูกยกร่างขึ้นอัดลงกับแผ่นโลหะจนทำให้เสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวบริษัทโฟล์คสวาเกน ระบุว่าเกิดจากความประมาทของมนุษย์มากกว่าจะเป็นความผิดพลาดของระบบควบคุม เนื่องจากหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมนั้นถูกออกแบบให้ทำซ้ำๆ ทำให้ไม่สามารถแยกแยะว่ากำลังยกแผ่นโลหะหรือมนุษย์ เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีพนักงานได้รับอันตรายจากหุ่นยนต์อุตสาหกรรมราว 1 ราย ทุกปี 

อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ในปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้งานในสายการผลิตเท่านั้น ความก้าวหน้าของระบบปัญญาประดิษฐ์ทำให้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ปฏิบัติการในสนามรบหลายรูปแบบเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของทหาร ตั้งแต่หุ่นยนต์ขนาดเล็กจิ๋วสำหรับโจมตีด้วยการกลุ้มรุมนับหมื่นนับแสน ไปจนถึงอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนติดอาวุธโจมตีทางอากาศ ผู้เชี่ยวชาญทางทหารหลายคนเชื่อว่าหุ่นยนต์กำลังจะกลายเป็นกำลังหลักในการทำสงคราม และเริ่มกังวลว่าถ้าหุ่นยนต์พวกนี้เผชิญกับอะไรบางอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน จะขาดการตัดสินใจที่ยืดหยุ่นแบบมนุษย์

 

ความผิดพลาดอาจจะนำไปสู่การสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ การทำลายล้างเป้าหมายที่ไม่ใช่ทางการทหาร รวมทั้งโอกาสที่อาวุธดังกล่าวจะโจมตีพวกเดียวกันเองโดยไม่ตั้งใจ 
 

กฎควบคุมหุ่นยนต์ข้อที่ศูนย์ ของไอแซค อาซิมอฟ 

หุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ทดแทนแรงงาน หรือทำหน้าที่เสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ ในช่วงทศวรรษ 1940s หุ่นยนต์เคยถูกมองว่าเป็นเสมือนเครื่องจักรที่ไร้สติปัญญาและดูแปลกแยก แต่ปัจจุบันหุ่นยนตร์มีศักยภาพสูงขึ้นกว่าเดิมมากจนถึงขี้นแสดงพฤติกรรมบางอย่างได้ด้วยตนเอง ทำให้หลายคนรู้สึกกังวลและยังคงปฏิเสธการมีอยู่ของหุ่นยนต์ 

 

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าและวิธีคิดที่ผู้คนส่วนใหญ่มีต่อหุ่นยนต์ คือ ไอแซ็ก อาซิมอฟ ศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน และนักประพันธ์นิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง งานชิ้นสำคัญของอาซิมอฟ เรื่อง I, Robot (1950) ได้วาดภาพของหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างและพัฒนาจน ‘คล้าย’ กับมนุษย์ เป็นเครื่องจักรกลที่มีเหตุผล สติปัญญา สามารถช่วยเหลือทำงานและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์ 
 

อาซิมอฟยังได้วางกฏสามข้อสำหรับควบคุมการพัฒนาหุ่นยนต์ เรียกว่า ‘Three Laws of Robotics’ ข้อแรก ‘หุ่นยนต์ไม่อาจกระทำอันตรายต่อมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตราย’ ข้อสอง ‘หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งจากมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นขัดแย้งกับกฎข้อแรก’ และข้อสาม ‘หุ่นยนต์ต้องปกป้องการดำรงอยู่ของตนเอง ตราบเท่าที่การปกป้องดังกล่าวนั้นไม่ขัดแย้งกับกฎข้อแรกและข้อที่สอง’ วัตถุประสงค์หลักของกฏดังกล่าวก็เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้มนุษย์ได้รับอันตรายจากหุ่นยนต์ แม้ว่ากฏเหล่านี้มีความหมายค่อนข้างกว้างและดูคลุมเครือ รวมทั้งไม่อาจทำได้จริงในทางปฏิบัติ แต่ก็ได้รับการยอมรับภายหลังว่าเป็นการวางรากฐานสำคัญของแนวคิดเรื่อง ‘จริยธรรมในหุ่นยนต์ และระบบปัญญาประดิษฐ์’ 
 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การพัฒนาหุ่นยนต์ที่รู้สึกนึกคิดได้เช่นเดียวกับมนุษย์เปลี่ยนจากความท้าทายกลายเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าหากปัญญาประดิษฐ์ของหุ่นยนต์สามารถพัฒนาด้วยตนเองไปจนสร้างตรรกะที่ซับซ้อนเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจ เมื่อนั้นหุ่นยนต์อาจจะกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามและเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติหรือไม่ มนุษย์จะมั่นใจได้อย่างไรว่าหุ่นยนต์จะยังคงปฏิบัติตามกฏทั้งสามข้อของอาซิมอฟ เรื่องดังกล่าวทำให้ภายหลัง อาซิมอฟ ได้เพิ่มกฎอีกข้อขึ้นมาควบคุมกฏพื้นฐานสามข้อเดิมเรียกกว่า ‘กฎ Zeroth’ หรือ ‘กฏข้อศูนย์’ ซึ่งกำหนดว่า ‘หุ่นยนต์มิอาจกระทำอันตรายต่อมนุษยชาติ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษยชาติตกอยู่ในอันตรายได้’ กฏข้อศูนย์ มีความหมายเช่นเดียวกับเอกธำรงค์ หรือ   แหวนแห่งอำนาจในบทประพันธ์ ของ เจ ฮาร์ อาร์ โทลคีน เรื่อง The Lord Of The Ring ที่แหวนวงเดียวมีอำนาจควบคุมเหนือทุกวง (One Ring to Rule Them All) นั่นคือ การกระทำตามกฎควบคุมหุ่นยนต์ทั้งสามข้อจะต้อง  ไม่ขัดแย้งกับกฎข้อศูนย์
 

การพัฒนาหุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบอาจทำให้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ดูด้อยค่าลง และสุ่มเสี่ยงต่อการอยู่รอดมากขึ้น สตีเฟ่น ฮอว์กิ้น นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยา ยอมรับว่าความสำเร็จในการสร้าง AI คือปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่ในทางกลับกัน 
 ฮอว์กิ้นทำนายว่าหายนะของโลกในอนาคตอาจเกิดจากการที่เทคโนโลยีสามารถพัฒนาขึ้นไปจนถึงจุดที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง และเมื่อวันนั้นมาถึง กฏที่เขียนด้วยรหัสศูนย์-หนึ่ง คงเข้ามาแทนที่กฏข้อที่ศูนย์ของอาซิมอฟ และเข้าควบคุมมนุษย์แบบเบ็ดเสร็จ ดังเช่นที่ วิลเลียม อิงเก้ นักบวชชาวอังกฤษ เคยกล่าวไว้ในความเรียงว่าด้วยการแสดงความเห็นแบบตรงไปตรงมา (Outspoken Essays) ว่า ‘เป็นการเปล่าประโยชน์สำหรับแกะที่จะผ่านญัตติสนับสนุนการกินเจ ในขณะที่หมาป่ายังดำรงความเห็นที่แตกต่างเอาไว้’ 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,806 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2565