ทำความรู้จัก "โรคไวรัสตับอักเสบเอ" โรคนี้ร้าย แต่ป้องกันได้

30 พ.ค. 2565 | 16:22 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 23:44 น.

จากข่าว FDA สหรัฐออกโรงเตือน การบริโภคผลไม้อย่างสตรอว์เบอร์รีออร์แกนิกก็ยังอาจเชื่อมโยงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบเอได้ ทำให้เรา ๆในฐานะผู้บริโภคพึงระลึกไว้เสมอว่าไวรัสร้ายนี้ปนเปื้อนมากับน้ำและอาหาร จึงติดเชื้อได้ง่าย ๆ ควรเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเอาไว้

โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบ ที่ค้นพบว่าก่อโรคในคนได้บ่อย ๆ ประกอบด้วย ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี ดี และ อี โดยสาเหตุนั้นเกิดจาก การติดเชื้อไวรัสเข้าไปในตับ โดยแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันในการดำเนินโรค

 

สำหรับ ไวรัสตับอักเสบ เอ หรือ Hepatitis A นั้น กล่าวกันว่าเชื้อตัวนี้เป็นไวรัสดั้งเดิมที่มีการกล่าวถึงตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ มีการบรรยายไว้ถึงการระบาดโดยเกิด “ดีซ่าน” กันทั้งเมือง

 

ไวรัสเอนี้ การติดต่อเกิดขึ้นได้ง่ายทางการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หลังจากที่เชื้อโรคผ่านกระเพาะไปยังลำไส้ ในเบื้องต้นเชื้อจะฝังตัวอยู่ในลำไส้ แต่หลังจากนั้นก็จะกระจายเข้าสู่ตับอันเป็นที่อยู่ที่อุดมสมบูรณ์สำหรับเชื้อตัวนี้

 

เมื่อเชื้อในตับปนเปื้อนในน้ำดีจากตับเข้าสู่ลำไส้ และปนมาในอุจจาระ คนได้รับอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสซึ่งปนเปื้อนมากับน้ำดื่มและอาหาร ก็จะเกิดโรคไวรัสตับอักเสบเอขึ้นได้  ดังนั้น ไวรัสตับอักเสบ เอ จึงเป็นโรคติดต่อทาง “อุจจาระสู่ปาก” หรือ Fecal-Oral route

 

หลังจากรับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลันคือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ดีซ่าน

อาการตาเหลือง

ทั้งนี้ ในผู้ใหญ่จะมีอาการมากกว่าในเด็ก เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดโรคนี้ใกล้เคียงกัน สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันการระบาดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย การระบาดที่มีรายงานในช่วงหลัง ๆ มักจะเกิดตามแหล่งที่มีการอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น เช่น บ้านเด็กอ่อน ค่ายทหาร รวมไปถึงล่าสุด มีการระบาดตามจังหวัดแนวตะเข็บชายแดน

 

ขณะที่ทั่วโลกสามารถพบได้บ่อย ประมาณ 1.4 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่พัฒนาและกำลังพัฒนา เพราะยังขาดการสาธารณสุขที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องน้ำดื่มและน้ำใช้

 

ไวรัสตับอักเสบเอเป็นไวรัสที่เป็นเฉียบพลัน หายแล้วหายขาดในคนที่มีภูมิคุ้มกันแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก ปัญหาในปัจจุบันพบน้อยลงตามลำดับจากสาธารณสุขที่ดีขึ้นของประเทศ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีวัคซีนป้องกันได้อีกด้วย

สาระน่ารู้เกี่ยวกับ “ไวรัสตับอักเสบ เอ”

  • เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือนในน้ำดื่มที่ไม่สะอาด น้ำทะเล น้ำเสีย และในดิน
  • เชื้อนี้ "ไม่สามารถฆ่าให้ตาย" ด้วยผงซักฟอก สบู่ สารคลอโรฟอร์ม (Chloroform) ความแห้งแล้ง หรือการแช่แข็ง แต่ฆ่าให้ตายได้ด้วยแสงยูวี (UV, Ultraviolet light) หรือแสงแดด สารคลอรีน (Chlorine) สารฟอร์มาลิน (Formalin) และด้วยอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 85 องศาเซลเซียส (Celsius) ขึ้นไป
  • ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคติดต่อได้ง่าย ระบาดได้ง่าย สามารถติดต่อจากการกิน และ/หรือ ดื่ม อาหารและ/หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้อยู่ ซึ่งเชื้อมักอยู่ในอาหารที่ปรุงไม่สุก สุกๆดิบๆ สด อาหารทะเล โดยเฉพาะหอยลวก ปู ผักสด และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะในน้ำแข็ง
  • ผู้ป่วยมักมีอาการภายหลังการได้รับเชื้อประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ เฉลี่ยประมาณ 28 วัน (ระยะฟักตัว) ในผู้ป่วยผู้ใหญ่สามารถแพร่เชื้อ (ทางอุจจาระ) ได้โดยเริ่มตั้งแต่ประมาณ 10 วันก่อนเริ่มมีอาการไปจนถึงประมาณ 1 สัปดาห์ หลังมีตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน)
  • แต่ในผู้ป่วยเด็กการแพร่เชื้อทางอุจจาระมีไปตลอดระยะเวลาที่เด็กยังมีอาการตา/ตัวเหลือง หรืออาจนานถึง 6 เดือน (ในเด็กบางคน) อย่างไรก็ตามในช่วงระยะฟักตัว โรคอาจติดต่อทางการให้เลือดได้ (เป็นช่วงมีไวรัสในเลือด) แต่เป็นวิธีติดต่อที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก
  • โรคไวรัสตับอักเสบเอ มักเป็นการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน ไม่ค่อยเปลี่ยนรุนแรงไปเป็นการอักเสบเรื้อรัง หรือโรคตับแข็ง และไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ มีน้อยรายที่อาการโรคอาจรุนแรง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ และคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว (มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ)
  • ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เอ มักมีอาการอยู่ทั้งหมดประมาณ 8 สัปดาห์ และมักจำเป็นต้องหยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโดยเฉพาะผู้สัมผัสอาหาร ในช่วงมีอาการมากเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 วัน ในเด็กเล็กมักไม่มีอาการ แต่เป็นผู้แพร่เชื้อ (เป็นพาหะโรค)

ตับเป็นที่อยู่อันอุดมสมบูรณ์สำหรับเชื้อไวรัสตัวนี้

  • ส่วนเด็กโตและในผู้ใหญ่อาการที่พบบ่อย คือ มีอาการคล้ายโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ มีไข้ (มีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ) ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย หลังจากนั้น 3 - 7 วัน เมื่ออาการคล้ายโรคหวัดทุเลาลง จะมีตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน) จากมีสารสีเหลือง (บิลิรูบิน หรือ Bilirubin) ในน้ำดีของตับ ท้นเข้ากระแสเลือด มีปัสสาวะสีเหลืองเข็มจากสารสีเหลืองเพิ่มมากในปัสสาวะ (ร่างกายกำจัดสารนี้ออกทางไต/ทางปัสสาวะ ปัสสาวะจึงมีสีเหลืองเข็มเพิ่มขึ้น)
  • อุจจาระอาจมีสีซีดจากขาดสารสีเหลือง (เพราะน้ำดีจะคั่งอยู่ในตับจากเซลล์ตับเสียการทำงาน จึงไม่มีน้ำดีไหลจากตับลงสู่ลำไส้ตามปกติ หรือไหลลงสู่ลำไส้ได้น้อย ซึ่งสีเหลือง/น้ำตาลของอุจจาระเกิดจากสารตัวนี้) แต่เมื่อการอักเสบของตับค่อยๆลดลง อาการตัว/ตาเหลืองจึงค่อยๆลดลงไปด้วยตามลำดับ นอกจากนั้น อาจคลำพบมีตับโต ม้ามโต
  • และ อาจมีต่อมน้ำเหลืองด้านหลังลำคอโต คลำได้เจ็บเล็กน้อย และในขณะมีตัว-ตาเหลือง อาจมีอาการคันได้ จากสารสีเหลืองในเลือดก่อการระคายต่อผิวหนัง

 

การรักษาโรค

  1. การรักษาประคับประคองตามอาการที่สำคัญคือ พยายามพักการทำงานของตับโดยพักผ่อนให้มากๆ การหยุดงานจะช่วยให้หายเร็วขึ้น
  2. ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติเพื่อขับสารสีเหลืองออกทางปัสสาวะ อย่างน้อยวันละ 6 – 8แก้ว (เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม)
  3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพราะเพิ่มการทำลายเซลล์ตับ กินอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในประเภทอาหารทางการแพทย์) มื้อละน้อยๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น พยายามอย่าให้ร่างกายขาดอาหาร กินยาบรรเทาอาการต่างๆเฉพาะตามแพทย์แนะนำเท่านั้น
  4. ไม่ซื้อยากินเอง เพราะยาอาจเพิ่มผล ข้างเคียงต่อตับทำลายเซลล์ตับเพิ่มขึ้น
  5. เมื่อมีอาการคันใช้ยาทาบรรเทาอาการคันภายนอก เช่น ยาคาลาไมด์และใช้โลชันชนิดอ่อนโยน(สำหรับเด็กอ่อน) ทาผิวกายภายหลังการอาบน้ำ

 

ทั้งนี้ ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้จากภาวะตับล้มเหลวประมาณ 0.5% ควรพบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารมาก ตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน) และควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่ออาการต่างๆเลวร้ายลง เช่น อาเจียนมาก อ่อนเพลียมาก กินไม่ได้ และ/หรือ มีไข้สูง

 

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ที่สำคัญคือ

  1. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  2. กินอาหารปรุงสุกอย่างทั่วถึงเสมอ ดื่มแต่น้ำสะอาดไว้ใจได้ และระมัดระวังการกินน้ำแข็ง
  3. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงเช่น ผู้ให้บริการสาธารณสุข คนทำงานในร้านอาหาร สถานพยาบาล และโรงเรียนอนุบาล

 

ที่มา : สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค /โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล