ปลุกกระแสท่องเที่ยว กินอาหารถิ่น ยิ่งกิน ชุมชนยิ่งได้

13 ธ.ค. 2564 | 19:26 น.

การท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวอีกหน้าที่สำคัญมากๆ ของไทย เพื่อการช่วยเหลือกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สู่ชาวบ้านจริงๆ

ดังนั้น ที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นหลายแนวทางในการพยายามกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนให้มากขึ้น ไม่เพียงแค่ต่างจังหวัด แต่รวมถึงในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครด้วย "อาหารถิ่น” เป็นอีกหนึ่งกิมมิกที่ควรได้รับการชูโรงและส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม

ปลุกกระแสท่องเที่ยว กินอาหารถิ่น ยิ่งกิน ชุมชนยิ่งได้

ซึ่งนั่นคือที่มา ที่ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเพจ THAILAND FOODCATION รวมพลคนชอบเที่ยว ชอบกิน และรักวิถีท้องถิ่น จัดทำโครงการ “Eat Local Give Local กินดีเที่ยวไทย ไม่ทิ้งถิ่น” ขึ้น ภายใต้แนวคิดหลัก “อาหารถิ่นยิ่งกิน ชุมชนยิ่งได้”

 โครงการนี้ิ นำทีมโดย “เชฟชุมพล  แจ้งไพร” เชฟมิชลิน จากทำเนียบ World Chef มาร่วมเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวความรู้อาหารถิ่น พร้อมยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่น ให้สามารถก้าวขึ้นไปสู่ระดับของมาตรฐาน ขณะเดียวกัน ก็ยังได้แวะชมสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ในแต่ละภูมิภาค การจับจ่ายหาซื้อวัตถุดิบจากแหล่งชุมชน ซึ่งเขาได้เริ่มเปิดเมนูเด็ดภาคกลางเป็นภาคแรก 

ปลุกกระแสท่องเที่ยว กินอาหารถิ่น ยิ่งกิน ชุมชนยิ่งได้
 #ภาคกลาง ถือเป็นภูมิภาคที่ได้รับการยกย่องให้เป็นห้องครัวของประเทศ เพราะเต็มไปด้วยวัตถุดิบขึ้นชื่อมากมาย โดย “เชฟชุมพล” ได้พาไปทำความรู้จักกับวัตถุดิบท้องถิ่น และ วัฒนธรรมการกินที่น่าสนใจ ที่ จ.อ่างทอง และ สิงห์บุรี เพื่อทำความรู้จักกับ ปลาช่อนแดดเดียว รวมถึง ผักกูด และ ขมิ้นขาว วัตถุดิบท้องถิ่นที่เชฟชุมพลเลือกนำมายกระดับให้กลายเป็นเมนูสุดพิเศษ

 #ภาคเหนือ แม้ว่าจะแวดล้อมไปด้วยเทือกเขาที่สลับซับซ้อนมากมาย แต่รสชาติ และ วิธีการปรุงอาหารของชาวภูมิภาคนี้ กลับมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา รสชาติกลางๆ ไม่ซับซ้อน และด้วยลักษณะภูมิภาคที่เป็นภูเขาสลับกับทิวเขา ทำให้มีอากาศหนาวเย็นนานกว่าพื้นที่อื่น ส่งผลให้วัตถุดิบและพืชพรรณที่อยู่ในภูมิภาคนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  

ปลุกกระแสท่องเที่ยว กินอาหารถิ่น ยิ่งกิน ชุมชนยิ่งได้
 วัตถุดิบและพืชพรรณต่างๆ ของภูมิภาคนี้ ถือว่ามีอิทธิพลและส่งผลต่อการสร้างให้เกิดรสชาติอาหารเฉพาะถิ่น อาทิ ถ้าต้องการให้อาหารมีรสชาติหวาน ชาวเหนือจะไม่นิยมใส่นํ้าตาลทราย แต่จะใช้รสหวานที่ได้จาก ผัก ปลา มาใช้ เป็นต้น และวัตถุดิบที่เชฟชุมพล เลือกมาใช้ทำแกงผักหวานป่าปลากะพงย่างเกลือ ก็คือ ผักหวานป่า และ ปลากะพง 

 

ปลุกกระแสท่องเที่ยว กินอาหารถิ่น ยิ่งกิน ชุมชนยิ่งได้
 #ภาคใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่แวดล้อมด้วยทะเล วัตถุดิบที่นำมาปรุงเป็นอาหารการกิน จึงล้วนได้มาจากท้องทะเลเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อต้องทานอาหารจากทะเลเป็นหลัก ชาวใต้ก็เลยจำเป็นต้องค้นหาวิธีในการปรุงอาหารเพื่อช่วยลดกลิ่นคาวของอาหารทะเล นั่นจึงเป็นที่มาของรสชาติเผ็ดร้อน จากเครื่องเทศและเครื่องปรุงประจำภาค เช่น กะปิ เข้ามาผสมในอาหาร ช่วยลดกลิ่นคาวของอาหารทะเล และยังช่วยเพิ่มความจัดจ้านให้รสชาติอาหาร จนกลายเป็นเสน่ห์ของอาหารถิ่นใต้ที่ไม่เหมือนใคร เมนูเด็ดของ ท้องถิ่นใต้ ก็คือ หลนกะปิสองสัมพันธ์ จากวัตถุดิบ คือ กะปิ กะทิ ปู กุ้งแชบ๊วย และ ปลาหมึก 
 

ปลุกกระแสท่องเที่ยว กินอาหารถิ่น ยิ่งกิน ชุมชนยิ่งได้

#ภาคอีสาน ปิดท้ายกันที่ภาคอีสาน ที่นี่ เชฟชุมพล จะทำเมนูเด็ด คือ ไก่ดำผัดหน่อหวายภูพาน จากวัตถุดิบ ที่ประกอบด้วย ไก่ดำ และหน่อหวาย ส่วนจะตื่นตาตื่นใจแค่ไหน ต้องลองไปติดตาม 

 


ความสนุกของการเดินทางตามรอยวัตถุดิบอาหารถิ่น “เชฟชุมพล” เล่าว่า นอกจากจะเป็นการนำวัฒนธรรมอาหารถิ่น วัตถุดิบท้องถิ่น ออกมาโชว์ให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดรายได้ และเกิดการไหลเวียนของเม็ดเงินในชุมชนควบคู่ไปด้วย ยิ่งมีการใช้จ่ายสนับสนุนวัตถุดิบท้องถิ่นมากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยชุมชน และผู้ผลิตระดับเล็กให้สามารถเดินหน้าต่อได้ และเมื่อชุมชนได้พัฒนาและแข็งแรงขึ้น ประเทศก็แข็งแรงขึ้นอย่างยั่งยืนด้วยแน่นอน

 

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,739 วันที่ 12 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564