หมอรพ.นวเวช แจง "เบาหวาน" รักษา คุ้มค่า หรือไม่

20 พ.ย. 2564 | 10:53 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2564 | 18:32 น.

หมอ รพ.นวเวช เสวนา ให้ความโรคเบาหวาน ในวันเบาหวานโลก เบาหวาน รักษา คุ้มค่า หรือไม่ อยู่กับเบาหวานแบบเบาใจ อยู่อย่างไรให้มีความสุข

ในโอกาสวันเบาหวานโลก 14 พฤศจิกายน ซึ่งในปีนี้เป็นโอกาสพิเศษครบรอบ 100 ปี แห่งการค้นพบอินซูลิน นพ.ธวัชชัย ภาสุรกุล อายุรแพทย์ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช จึงจัดสัมมนากลุ่มย่อยเป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อเรื่อง เบาหวาน รักษา คุ้มค่า หรือไม่ อยู่กับเบาหวานแบบเบาใจ อยู่อย่างไรให้มีความสุข

หมอรพ.นวเวช แจง \"เบาหวาน\" รักษา คุ้มค่า หรือไม่

กิจกรรมสร้างความเข้าใจในการเข้ารับการรักษาโรคเบาหวาน เพื่อช่วยค้นหาทิศทางสำหรับการตั้งเป้าหมายให้กับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้มีความเสี่ยง และผู้ที่สนใจ โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาภายใต้รักษามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งคุณหมอได้นำข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายอย่างมาพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างน่าสนใจ

  • คนไทยเข้าถึงการรักษา แต่ไม่สามารถคุมเบาหวานได้ตามเป้าหมาย

นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า การเข้าสู่การรักษา (Access to Diabetes Care) เป็นธีมที่นานาชาติใช้ในปี 2564 ประกอบด้วย การเข้าถึงการรักษาด้วยอินซูลิน การเข้าถึงการรักษาด้วยยากิน การเข้าถึงการให้ความรู้เบาหวาน และการตรวจน้ำตาลด้วยตัวเอง ซึ่งประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่เข้าถึงการรักษาโรคเบาหวาน ถึงแม้จะได้รับการวินิจฉัย เพื่อคัดกรองการค้นหากลุ่มเสี่ยง ได้รับการรักษา จากการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีผลข้างเคียง

 

หรือแม้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพื่อป้องกัน หรือชะลอภาวะแทรกซ้อน แต่ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ตามเป้าหมาย เมื่อรักษาไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดภาวะแทรกซ้อน อาทิ ไตวาย ตาบอด หรือถูกตัดเท้า

สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม อาทิ โภชนาการ ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย สามารถทดสอบความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานเบื้องต้น โดยการทานน้ำตาลในปริมาณ 75 กรัม แล้วเจาะเลือด 2 ชั่วโมง เพื่อดูว่าร่างกายสามารถกำจัดน้ำตาลส่วนเกินเหมือนคนปกติหรือไม่ ปกติจะไม่เกิน 140 mg/dL ถ้าอยู่ระหว่าง 141 -199 mg/dL ภาวะก่อนเบาหวาน แต่ถ้ามากกว่า 200 mg/dL วินิจฉัยเบาหวาน ซึ่งในประเทศไทยถ้าเราตั้ง HbA1c ต่ำกว่า 7 มีประมาณแค่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่รักษาได้ถึง HbA1c ต่ำกว่า 7 ส่วนใหญ่รักษาได้ไม่ถึง 

  • เป้าหมายในการรักษาเบาหวาน HbA1c ไม่ควรเกิน 7%

น้ำตาลก่อนอาหารในคนปกติจะอยู่ที่ 70-99 mg/dL. ถ้าอยู่ในภาวะก่อนเบาหวานก็คือ 100-125 mg/dL. ถ้าเกินกว่า 126 mg/dL. วินิจฉัยเบาหวาน เป้าหมายการรักษาเบาหวานน้ำตาลก่อนอาหารไม่เกิน 130 mg/dL. น้ำตาลหลังอาหารสูงสุดไม่เกิน 180 mg/dL. HbA1c ไม่เกิน 7 % หรือค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด 3 เดือนไม่เกิน 154 mg/dL

นอกจากนี้ นพ.ธวัชชัย ยังได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาผู้ป่วยเบาหวานในยุโรปประมาณ 298 ราย อายุ 20-65 ปี ประวัติเป็นเบาหวานไม่เกิน 6 ปี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 50% ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ส่วนอีก 50% ไม่ได้รับยา โดยให้เข้ารับโปรแกรมการลดน้ำหนักอย่างเข้มข้น 3-5 เดือน ให้รับประทานอาหารแคลอรี่ต่ำไม่เกิน 850 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอาหารในเวลา 2-8 สัปดาห์ต่อเนื่อง ภายใน 1 ปีสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่า 15 กิโลกรัม และมีผลให้โรคเบาหวานหาย 46% ขณะที่กลุ่มใช้ยาเบาหวานหายเพียง 4% เท่านั้น

รู้เร็ว รักษาทัน ลดอันตรายจากเบาหวาน

หลายคนรักษาเบาหวานโดยไม่ได้ตั้งเป้าหมาย ทำให้ยังไม่เข้าใจถึงการรักษาเบาหวานมากไปกว่าเข้ามารับยา แล้วนำกลับไปทาน รวมทั้งยังไม่ทราบถึงอันตราย และความเสียหายที่เกิดจากเบาหวาน

- เบต้าเซลล์ที่สร้างอินซูลินจะลดลงไปเรื่อยๆ ยิ่งรู้ช้า ยิ่งได้รับการรักษาช้า โรคจะเป็นมากขึ้น อาการเบาหวาน อาการน้ำตาลในเลือดสูง จะรบกวนชีวิตประจำวันของเรา ประการสำคัญ คือ ผู้ป่วยโควิดที่เป็นเบาหวาน มีโอกาสติดเชื้อง่าย ซึ่งจะเกิดภาวะวิกฤตน้ำตาลในเลือดสูงได้

- ภาวะวิกฤตน้ำตาลในเลือดสูง มักเกิดโรคแทรกซ้อนและมีอัตราการตายสูง หากเป็นเบาหวานโดยที่ไม่รู้ตัว ไม่ได้รักษา หรือไม่ได้ดูแลตัวเองให้ดี ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิฤตน้ำตาลในเลือดสูง

- เสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งตัว ทำให้เกิดการตีบ อุดตัน ต่ออวัยวะสำคัญ คือ หัวใจ สมอง ลำไส้ ปลายเท้า นำไปสู่โรคร้ายแรงหลายอย่าง ความพิการ หรือเสียชีวิต

- เกือบครึ่งของคนที่เป็นเบาหวาน ครึ่งของคนที่เป็นเบาหวานแบบไม่รู้ตัว และอีกเกินครึ่งของคนที่เป็นเบาหวาน ที่รักษาควบคุมไม่ได้ โดยที่ไม่มีอาการอะไร ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อ หรือเกิดแผลได้ง่าย กระตุ้นให้เกิดภาวะวิกฤตของน้ำตาลในเลือดสูงได้ หรือเกิดโรคแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆ ตามหลังมาได้  

- ภาวะดื้อต่ออินซูลิน มีปัจจัยจาก ยาบางชนิด ภาวะการอักเสบ กรรมพันธุ์ ขาดการออกกำลังกาย ความอ้วน และอายุที่สูงขึ้น สิ่งที่เกิดตามมาหลังภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือ ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดแดงแข็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อินซูลินในเลือดสูงเกินไป เพราะฉะนั้น ภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงมีความหมายสำคัญต่อการเกิดเบาหวาน

นพ.ธวัชชัย แนะนำวิธีการลดภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน 2 ประการ คือ 1.รักษาและควบคุมเบาหวานให้ปกติ หรือใกล้เคียงปกติที่สุด โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การบริหารยาลดน้ำตาลให้สม่ำเสมอ ดูแลตัวเอง อย่างเช่น การตรวจน้ำตาลด้วยตัวเอง 2. รักษา ค้นหา ละเลิก ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของหลอดเลือดแดงตีบ คือ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย ปรับวิถีชีวิต รักษาความดัน ไขมัน ได้ตามเป้าหมาย การดูแลตนเอง งดบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส

“การตั้งเป้าหมายรักษาเบาหวานต้องมองภาพรวมก่อนว่าเบาหวานคืออะไร ตั้งเป้าหมายในการมารักษาไว้อย่างไร ถ้าตั้งเป้าหมายแล้วต้องพยายาม เช่น อยากให้หาย ไม่อยากกินยา ไม่อยากเป็นเบาหวาน หรือไม่อยากเกิดโรคแทรกซ้อน เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถเปลี่ยนมายด์เซทตัวเอง มองว่ามีเป้าหมายอะไรบ้าง ก็จะตั้งใจทำตามเป้าหมายได้อย่างมีความสุขและทำได้สม่ำเสมอ” นพ.ธวัชชัย กล่าว

เป้าหมาย และความคิด จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้อยู่กับเบาหวานแบบเบาใจ อยู่ได้อย่างมีความสุข รวมทั้งช่วยทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น