ขยะ ภาชนะใช้แล้วทิ้ง พิษร้ายที่พ่วงมากับไวรัสโควิด-19

02 ก.ค. 2564 | 16:46 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 23:59 น.

การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐบาลนานาประเทศนำมาใช้ เพื่อจำกัดการเดินทางออกนอกบ้าน โดยไม่จำเป็นของประชาชน รวมทั้งจำกัดการรวมตัวหรือการชุมนุมทำกิจกรรมต่างๆ เป้าหมายก็เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายดังกล่าว

ผลพวงที่ตามมาของการกักตัวหรือจำกัดตัวเองอยู่กับบ้าน ขณะที่บรรดาร้านอาหารก็ปิดชั่วคราว มีแต่บริการสั่งห่อกลับบ้านหรือส่งนอกสถานที่ ทำให้ธุรกิจดิลิเวอรี่สินค้าประเภทอาหารการกินและเครื่องดื่ม ขยายตัวแบบก้าวกระโดดแต่สิ่งที่ตามมาด้วยเป็นเงาตามตัวก็คือ ขยะภาชนะพลาสติกและโฟม เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน 

ยกตัวอย่างที่ประเทศแคนาดา ซึ่งมีองค์กร “เกรท แคเนเดียน ชอร์ไลน์ คลีนอัพ”  (Great Canadian Shoreline Cleanup) เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขยะพลาสติกที่สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศทางทะเล ระบุผลการศึกษาระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา (2563) พบว่า ในช่วงปีดังกล่าว ปริมาณขยะพลาสติกจากภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic food containers) ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่มีสัดส่วนเป็นเพียง 15.3% ของขยะทั้งหมดที่เก็บได้ริมชายฝั่งของแคนาดาในปี 2562 ขยับขึ้นเป็น 26.6% ของขยะทั้งหมด 41,000 กิโลกรัมที่เก็บได้ริมชายฝั่งแคนาดาในปีที่ผ่านมา (2563) ซึ่งต้องใช้แรงงานของอาสาสมัครจำนวนถึง15,000 คน 

ผู้บริหารของ “เกรท แคเนเดียน ชอร์ไลน์ คลีนอัพ” ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องน่าตกใจมากที่พบขยะพลาสติกภาชนะใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้นอย่างมากมายขนาดนั้น เชื่อได้ว่านี่คือผลพวงอย่างหนึ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้คนที่กักตัวเองอยู่กับบ้าน หรือทำงานจากบ้าน (work from home) หันมาใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์และดิลิเวอรี่ กันมากขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ปริมาณขยะภาชนะประเภทพลาสติกและโฟมพุ่งขึ้นตาม   

นอกจากนี้ อาสาสมัครเก็บขยะยังพบว่า จากประสบการณ์ 27 ปีของการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นมา ปีที่แล้วนับเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บขยะหน้ากากอนามัยได้มากพอที่จะบันทึกไว้เป็นสถิติร่วมกับขยะประเภทอื่น ๆ 

“ก่อนหน้านี้ เราไม่เคยมีขยะในหมวดหน้ากากอนามัย ชุด หรือเครื่องมือป้องกันเชื้อโรค ให้บันทึกข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่จากประสบการณ์ในปีที่ผ่านมา ทำให้เราเพิ่มหมวดดังกล่าวแล้วในการเก็บข้อมูลปีนี้” ผู้เชี่ยวชาญจาก “เกรท แคเนเดียนชอร์ไลน์ คลีนอัพ” กล่าว

การแพร่ระบาดของโควิดทำให้อาสาสมัครเก็บขยะริมชายฝั่งทะเลของแคนาดามีจำนวนลดลงราว 70% ในปี 2563 และจำเป็นต้องหยุดกิจกรรมเก็บขยะ(เนื่องจากเป็นการชุมนุมคนหมู่มาก) เป็นเวลาถึง 4 เดือน   

ด้านองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund : WWF) คาดการณ์ว่า ปริมาณขยะภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งน่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราราว 40% ภายในช่วงทศวรรษหน้า ซึ่งสาเหตุหลักมาจากแนวโน้มที่ธุรกิจร้านอาหารทั่วโลกจะหันมาพึ่งพารายได้จากบริการดิลิเวอรี่และบริการห่อกลับบ้านกันมากยิ่งขึ้น แม้แต่เชนร้านที่เคยสนับ

สนุนการใช้ภาชนะแบบนำมาใช้ซ้ำได้อีกหลายครั้ง ก็ยังต้องยกเลิกโครงการเชิงอนุรักษ์เหล่านี้ เพราะวิถี “New Normal” หรือการใช้ชีวิตแบบใหม่ในยุคสมัยของโควิด-19 ไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้น

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,692 วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564