“หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” ร่วมแก้วิกฤต “โควิด-19”

21 มิ.ย. 2564 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2564 | 21:58 น.
876

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับการบริหารจัดการและเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ต่างๆ รองรับ นอกจากดูแลประชาชนแล้ว ยังสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรค

“หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” แม้ว่าได้กำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึงแล้ว แต่ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด “โรคโควิด-19” เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับการบริหารจัดการและเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ต่างๆ รองรับ นอกจากดูแลประชาชนแล้ว ยังสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรค

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อในประเทศตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา สปสช. ภายใต้การบริหารโดย บอร์ด สปสช. ได้เตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะด้านงบประมาณสนับสนุนการดูแลประชาชน การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด นอกจากเงินกองทุนรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมกว่าพันล้านบาท ภายใต้กองทุนบัตรทองในช่วงแรกแล้ว ยังขอจัดสรรงบเพิ่มเติม พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดยรอบที่ 1 จำนวน 2,633.69 ล้านบาท รอบที่ 2 จำนวน 3,652.38 ล้านบาท และรอบที่ 3 ด้วยยอดผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มเติมงบประมาณจำนวน 9,847 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอ ที่ผ่าน ครม. และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

ตลอดช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา สปสช. บริหารจัดการและจัดสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับกรณีโควิด-19 เพื่อดูแลประชาชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยในระยะแรก อาทิ ตรวจคัดกรองและวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งยารักษา ค่าห้องปลอดเชื้อ ค่าบริการรับส่งผู้ติดเชื้อ และชุดป้องกันเชื้อ (P.P.E.) ที่ดูแลผู้ติดเชื้อที่รักษาในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel พร้อมสนับสนุนบริการต่างๆ ที่ลดโอกาสติดเชื้อให้กับผู้ป่วยและควบคุมการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา ขย.1 ใกล้บ้าน และบริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth/Telemedicine) โดยได้รับการตอบรับทั้งจากหน่วยบริการและผู้ป่วยในระบบบัตรทอง

 

“หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” ร่วมแก้วิกฤต “โควิด-19”

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงนับพันราย ในส่วน สปสช. ได้หารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนร่วมมือให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่เรียกเก็บค่ารักษา แต่ให้เบิกจ่ายค่าบริการมายัง สปสช. แทน, เพิ่มสภาพคล่องให้กับโรงพยาบาลด้วยการลดระยะเวลาการจ่ายชดเชยค่าบริการเป็น 15 วัน จากเดิม 30 วัน, ร่วมประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าไม่ถึงบริการผ่านกลไกสายด่วน สปสช. 1330 ที่ขยายเพิ่มกว่า 200 คู่สาย

นอกจากนี้ ได้ปรับต้นทุนบริการให้เหมาะสม เช่น ตรวจหาเชื้อโควิด-19 วิธีทดสอบแอนติเจนลดลงอยู่ที่ 500 บาท/ครั้ง จาก 1,200 บาท/ครั้ง เพิ่มค่าบริการฉีดวัคซีนจาก 20 บาท เป็น 40 บาทต่อครั้ง เพิ่มขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการวินิจฉัยสาเหตุการตรวจและรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19

ในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดภาวะความรุนแรงของโรคและสร้างภูมิคุ้มกันประเทศ ย่อมมีผู้ที่เกิดภาวะไม่พึ่งประสงค์ มีทั้งอาการเล็กน้อย รุนแรง และเสียชีวิต เพื่อดูแลและลดความวิตกกังวล สปสช. มีการจัดระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ กลไกทางสังคม ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ที่มีประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกดำเนินการเช่นเดียวกัน จากข้อมูล ณ วันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ 395 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 10 ราย

“หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” ร่วมแก้วิกฤต “โควิด-19”