เศรษฐกิจไทยทรุด "เจอสนิมใน" ขาดดุลงบประมาณ กู้เงินโควิด ฉุดอันดับร่วงยาว

16 มิ.ย. 2565 | 13:42 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 21:23 น.
868

เปิดข้อมูลเศรษฐกิจไทยยุคโควิด หลัง IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ปี 2565 พบการจัดอันดับร่วง โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ทรุด 11 อันดับส่องดูไส้ในเจอสนิม ทั้งขาดดุลงบประมาณ การกู้เงินโควิด

สถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประจำปี 2565 ประเทศไทยมีอันดับลดลงถึง 5 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก มีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 72.52 มาอยู่ที่ 68.67

 

การจัดอันดับรอบนี้มีปัจจัยหลักที่ IMD ใช้ในการจัดอันดับรวม 4 ด้าน ทั้ง ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด โดยนอกจากปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ได้รับผลกระทบมากที่สุด ที่มีอันดับลดลงจากปี 2564 ถึง 13 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 34 ในปี 2565 แล้ว

 

ยังมีด้าน ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ซึ่งประเทศไทยมีอันดับที่ปรับลดลงอย่างน่าเป็นห่วงเช่นกัน โดยจากการจัดอันดับพบว่า ภาพรวมอันดับลดลงจากปี 2564 ถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 31 ในปี 2565 

 

ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้อันดับในด้านประสิทธิภาพของภาครัฐลดลง 11 อันดับจากปี 2564 มาอยู่ที่อันดับ 31 โดยมีอันดับลดลงในทุกปัจจัยย่อย ดังนี้

  • การคลังภาครัฐ (Public finance) ที่มีอันดับลดลงจากปีก่อนมากที่สุดถึง 15 อันดับ 
  • กฎหมายธุรกิจ (Business legislation) ที่ปัจจัยชี้วัดส่วนใหญ่มาจากการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจเกี่ยวกับกรอบของกฎหมายหรือนโยบายที่เอื้ออำนวยหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจที่มีอันดับลดลง 8 อันดับ 
  • กรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional framework) ลดลง 5 อันดับ 
  • นโยบายภาษี (Tax policy) ลดลง 3 อันดับ 
  • กรอบการบริหารทางสังคม (Societal framework) ลดลง 1 อันดับ 

 

ทั้งนี้ ในส่วนของการคลังภาครัฐ (Public finance) ที่มีอันดับลดลงอย่างมาก มีตัวชี้วัดที่ปรับอันดับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ 

  1. การขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ (Government budget surplus/deficit) จากการที่รัฐบาลไทย ตั้งงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจาก พิษโควิด  19 และอัตราการเติบโตที่แท้จริงของหนี้สาธารณะของไทย ที่เพิ่มสูงขึ้น 
  2. จากรายงานหนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2564 พบว่าอยู่ที่ 9.62 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 59.58 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งใกล้จะถึงเพดานที่กำหนดของกรอบความยั่งยืนทางการคลังเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP เนื่องจากไทยจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19

 

ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงเรื่องนี้ว่า ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพภาครัฐ อยู่ในอันดับที่ 31 ลดลง 11 อันดับ จากอันดับที่ 20 ในปีก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากปัจจัยย่อยทางด้านฐานะการคลัง ที่มีการใช้จ่ายงบประมาณแบบขาดดุล และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง 

 

ทั้งนี้เป็นผลจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีการกู้เงินเพื่อน ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ รักษาระดับการจ้างงาน และกระตุ้นการลงทุนและบริโภคในระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากประเทศไทย

 

แต่หากไปดูตัวชี้วัดย่อยที่เป็นเรื่องการกระจายรายได้ของกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% ของประเทศไทยมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นส่งผลให้ตัวชี้วัดดังกล่าวมีอันดับดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 หรือดีขึ้น 26 อันดับจากปีก่อนหน้า

 

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐในการลดค่าครองชีพของกลุ่มคนเปราะบาง และมีมาตรการบรรเทาช่วยเหลือด้านรายจ่ายให้แก่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยในประเทศผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสำคัญ เช่น “เราชนะ” และ “คนละครึ่ง”

 

เศรษฐกิจไทยทรุด \"เจอสนิมใน\" ขาดดุลงบประมาณ กู้เงินโควิด ฉุดอันดับร่วงยาว

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของจากแนวโน้มผลการจัดอันดับของไทยในระยะยาวในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างคงที่ แต่มักมีความผันผวนในปีที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหรือสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้ภาพรวมผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในปี 2565 ลดลงถึง 5 อันดับจากปี 2564 มาอยู่ในอันดับที่ 33 

 

โดยอันดับของทุกปัจจัยลดลง โดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ มีอันดับที่ลดลงมากที่สุดถึง 13 อันดับ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ที่ลดลง 11 อันดับ และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ลดลง 9 อันดับ สะท้อนให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนของไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องพยายามปรับตัว พัฒนาตนเองให้ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง 

 

ทั้งในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ต้องดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจที่เป็นเสาหลักของประเทศ โดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ การจัดทำนโยบายส่งเสริมภาคเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของประเทศให้สามารถเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนภาคเอกชนให้มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว 

 

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยปรับระบบการศึกษาให้มีความทันสมัย การสนับสนุนบุคลากรในวัยแรงงานให้ได้รับการฝึกอบรม Reskill และ Upskill การส่งเสริมพัฒนาทักษะในการสร้างและนำเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงนวัตกรรมมาใช้ และสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาและเรียนรู้ดังกล่าวในทุกช่วงวัย ให้มากและรวดเร็วขึ้น