เอกซเรย์ ความมั่นคงเศรษฐกิจไทย 5 ปี กลุ่มทุนใหญ่กุมตลาดสินค้า-บริการ

07 มิ.ย. 2565 | 15:25 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2565 | 23:12 น.
593

สมช. วิเคราะห์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้ายังเผชิญการชะลอตัว อีกทั้งปัญหาความแตกต่างทางรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงอื่น ๆ ตามมามากขึ้น ขณะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ยังถือครองกำไรส่วนใหญ่ มีอำนาจกำหนดราคาสินค้าและบริการ

เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ

 

ร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางในการป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคาม ธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ รองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนเชื่อมโยงประสานสอดคล้องกับแผนระดับที่ 2 ที่เกี่ยวข้อง คือ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13

กระบวนการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570 ได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคการเมือง และภาคสื่อมวลชน ทั้งในรูปแบบการประชุม การสัมภาษณ์เชิงลึก การสัมมนาวิชาการ การจัดส่งข้อคิดเห็น และการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์

 

ร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับนี้ได้วิเคราะห์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจว่า ความแตกต่างทางรายได้ ปัญหาการขาดโอกาสเชิงเศรษฐกิจของประชาชนในบางกลุ่มบางพื้นที่อันเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สามารถนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงอื่น ๆ หรือส่งผลให้ปัญหาที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ปัญหาความยากจน การเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐาน ปัญหาการก่ออาชญากรรม และปัญหายาเสพติด เป็นต้น 

ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และระบบเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ 

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มทุนขนาดใหญ่จะยังคงถือครองกำไรส่วนใหญ่ และมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าและบริการส่งผลให้ภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยเกิดความไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการ

 

นอกจากนี้การเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งไปใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ก่อให้เกิดธุรกิจรายย่อยและแรงงานแพลตฟอร์ม (Platform labor/Gig worker) จำนวนมาก ซึ่งนับว่า เป็นกลุ่มแรงงานในธุรกิจใหม่ที่เข้ามาขับเคลื่อนการดำเนินเศรษฐกิจของสังคมเมืองและยังไม่มีหลักประกันในการทำงานหรือสวัสดิการที่เหมาะสม จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชน และความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐ 

 

อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคในระดับปัจเจกที่เปลี่ยนแปลงไปได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่จะขยายตัวมากขึ้น อาทิ การลักลอบค้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การค้าน้ำมันเถื่อน การโจรกรรม การลักลอบค้าพาหนะข้ามแดน และการพนันออนไลน์