เปิดความไม่ชอบมาพากล เตาเผาขยะหมื่นล้าน กทม. วัดฝีมือผู้ว่าฯกทม.ใหม่สะสาง

30 พ.ค. 2565 | 10:45 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 19:25 น.
3.1 k

ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล การประมูลโครงการเตาเผาขยะ ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม-อ่อนนุช มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท หลังจากเรื่องยังอยู่ที่ ป.ป.ช. กลายเป็นเผือกร้อนผู้ว่าฯกทม. คนใหม่เข้ามาสะสาง เพราะมีการตั้งข้อสังเกตเพียบ ทั้ง ราคากลาง TOR และข้อกฎหมาย

จากกรณีการประมูล โครงการเตาเผาขยะทั้งที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขมและอ่อนนุช มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการจนเสร็จสิ้น ตามที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้

 

แม้โครงการที่ว่า กทม.จะได้ตัวผู้ชนะไปแล้ว 2 ราย คือ บริษัท ซีแอนด์จีเอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) (C&G) จำกัด เป็นดำเนินโครงการเตาเผาขยะทั้งที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม และ บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด เป็นผู้ชนะโครงการอีกแห่งที่อ่อนนุช

 

แต่ล่าสุดยังมีเรื่องค้างอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวน และสอบสวนโครงการอีกครั้ง เพราะพบความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง ที่เคลือบแคลงจนมิอาจมองข้ามไปได้ ดังกรณีต่าง ๆ ต่อไปนี้

 

อ่าน : เผือกร้อน “ชัชชาติ” ว่าที่ผู้ว่าฯกทม. รื้อประมูลเตาเผาขยะหมื่นล้าน

กรณีการกำหนดราคากลางค่ากำจัดขยะ อาจสูงเกินความเป็นจริง

 

แหล่งข่าว ระบุว่า การกำหนดราคากลาง อาจมีความเป็นไปได้ที่ตั้งไว้สูงเกินความเป็นจริง คือ 900 บาทต่อตัน ขณะที่หน่วยราชการท้องถิ่นอื่น ๆ ในต่างจังหวัดได้ดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันด้วยราคากลาง และงบประมาณที่น้อยกว่า กทม. กว่า 3 เท่าตัว (ประมาณ 300 - 600 บาทต่อตัน) 

 

กรณีรายละเอียดในร่างเอกสารการประกวดราคา (TOR) อาจเข้าข่ายล็อกสเป็คกีดกันผู้ประกอบการรายอื่น

 

แหล่งข่าว ระบุถึงกรณีนี้ว่า จาก TOR คุณสมบัติด้านประสบการณ์คู่สัญญารับจ้างงานจากหน่วยงานรัฐ ในลักษณะสัญญาสัมปทานในรูปแบบ BOT หรือ Build-Operate-Transfer อาจมีบริษัทในประเทศไทยผ่านมาตรฐานนี้เพียง 3 แห่งเท่านั้น และเมื่อนำ ISO 14001 การจัดการสิ่งแวดล้อม เข้ามาประกอบการพิจารณา จะทำให้เหลือบริษัทเอกชนเพียงรายเดียว

 

กรณีการทำผิดกฎหมายเรื่องการปล่อยน้ำเสียของโรงไฟฟ้าหนองแขมที่เดินเครื่องอยู่

 

แหล่งข่าว ระบุว่า โรงไฟฟ้าหนองแขมที่เดินเครื่องอยู่ขนาด 500 ตันต่อวัน มีการปล่อยน้ำจากโรงงานออกสู่ภายนอก ด้านหน้าโรงงานปล่อยน้ำลงบ่อพักน้ำในโรงงานที่เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำสาธารณะ

 

ด้านหลังโรงงานมีการปล่อยน้ำสู่คลองสาธารณะจากบ่อพักด้านหลังโรงงาน น้ำขยะไม่สามารถกำจัดได้หมดที่โรงบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากออกแบบโหลดน้อยกว่าความจริงจึงต้องจ้างขนน้ำขยะออกไปทิ้งด้านนอกโรงงาน 

 

ด้วยเหตุนี้จึงเสนอให้ กทม. ควรส่งเจ้ำหน้ำที่ไปตรวจสอบการปล่อยน้ำเสียที่ผิดกฎหมายด้วย

เผือกร้อน “ชัชชาติ” ว่าที่ผู้ว่าฯกทม. รื้อประมูลเตาเผาขยะหมื่นล้าน

 

ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวน สอบสวน ทั้งกรณีของมูลค่าโครงการดังกล่าว อาจเข้าข่ายสูงกว่าความเป็นจริง นั่นคือ ราคาที่เอกชนผู้ชนะเสนอ ทั้งที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ในราคา 5,657.5 ล้านบาท และที่อ่อนนุช ราคา 5,759.7 ล้านบาท ลดจากราคากลาง 800-900 ล้านบาทนั้น อาจเข้าข่ายสูงกว่าความเป็นจริง 

 

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยราชการอื่น ๆ ที่ดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกัน นอกจากนั้น เอกชนจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าวันละประมาณ 1.39 ล้านบาทเศษ เท่ากับปีละ 507 ล้านบาท หากสัมปทานอายุ 20 ปี ผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าประมาณ 10,152 ล้านบาท ต่อโครงการ รวม 2 โครงการ มีมูลค่าประมาณ 20,305 ล้านบาท

 

ขณะที่กระบวนการอาจขัด พ.ร.บ การจัดชื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เนื่องจากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดยกรมบัญชีกลางกำหนดหลายประการ เช่น ประกาศการแจ้งผลการคัดเลือกฯของ กทม.ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ไม่มีประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคาในเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ของกรมบัญชีกลาง ตามที่ พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ได้กำหนดไว้แต่อย่างใด 

 

เอกชนผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แห่ง อาจมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงและโดยอ้อม หลังพบว่ามีกรรมการของบริษัทบางคนมีชื่อไขว้กันอยู่ ในบริษัททั้งสองแห่งและมีสถานที่จดทะเบียนตั้งบริษัทอยู่ในที่ทำการเดียวกัน อาจเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์

 

เอกชนผู้ชนะการเสนอราคาที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช อาจไม่ได้มีผลงานตามที่กำหนดไว้ โดยเอกชนผู้ได้รับคัดเลือกพบว่า เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ก่อนจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคล และทุนจดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 และแจ้งเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนเป็น 755 ล้านบาท โดยมีเอกชนที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการที่ศูนย์หนองแขมถือหุ้นอยู่ด้วย 

 

อีกทั้งเมื่อสืบค้นผลประกอบการ ไม่พบว่ามีการประกอบกิจการใด ๆ และมีผลขาดทุนทั้งในปี 2560 และในปี 2561 จนมีคำถามว่า เหตุใดจึงมีสิทธิ์เข้าร่วมการประกวดราคา และยังได้เป็นผู้ชนะการเสนอราคาได้ เนื่องจากในรายการด้านเทคนิคได้กำหนดหัวข้อประสบการณ์ผู้ยื่นข้อเสนอในการดำเนินการโรงงานเตาเผามูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงาน มีคะแนนมากที่สุดถึง 500 คะแนน 

 

รวมทั้งน่าสังเกตว่า บริษัทแห่งนี้เพิ่งเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 755 ล้านบาท และเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นไปเมื่อวันที่13 ธันวาคม 2561 ก่อนที่ กทม.จะเปิดการประกวดราคาไม่นานด้วย

 

จากปมปัญหาทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คงต้องรับเผือกร้อนกลับไปทบทวนโครงการอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของชาติ และของคนกทม.ด้วยกันทั้งสิ้น