200 นโยบาย “ชัชชาติ” ทำอะไรได้บ้างในงบประมาณ 2566 ที่ตั้งขึ้นในยุค “อัศวิน”

23 พ.ค. 2565 | 17:33 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2565 | 00:51 น.
4.7 k

สำรวจงบประมาณกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้งบประมาณรายจ่ายปี 2566 ที่เพิ่งผ่านครม. ไปสด ๆ ร้อน ๆ กรุงเทพฯ ได้รับการจัดสรรงบมากแค่ไหน เพียงพอสำหรับต้อนรับผู้ว่าฯกทม. คนใหม่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ใช้ทำนโยบายให้ได้ตามที่ประกาศไว้ 200 กว่าเรื่องหรือไม่ ต้องไปติดตามกัน

เรียกว่าไม่พลิกโผ และผลโพลใด ๆ สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งนี้หลังจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้รับคะแนนเสียงจากชาวกทม.ท่วมท้นเป็นประวัติศาสตร์ 1,386,215 คะแนน แลนด์สไลด์ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.คนที่ 17 แบบทิ้งขาดคู่แข่งไม่เห็นฝุ่นตั้งแต่การเริ่มปิดหีบนับคะแนน 

 

หลังจากผ่านค่ำคืนของการเลือกตั้งไปเป็นที่เรียบร้อย ว่าที่ผู้ว่าฯ “ชัชชาติ” ก็เริ่มต้นทำกิจกรรมทันทีในวันรุ่งขึ้น หลังจากพาทีมไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนลุมพินี ก็ลงพื้นที่สำรวจคลองลาดพร้าว พร้อมนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เพื่อดูแนวทางในการทำนโยบายป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ประกาศในช่วงการหาเสียงเอาไว้กับชาวกทม.

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

สำหรับว่าที่ผู้ว่าฯ “ชัชชาติ” ได้ตัวลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. 2565 ในนามอิสระ พร้อมกับประกาศนโยบายพัฒนาและแก้ไขปัญหากรุงเทพมฯ ถึง 214 นโยบาย พร้อมเปิดแคมเปญ "สร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม" หรือ Better Bangkok พร้อมระบุข้อความ “สิ่งที่ผมอยากเห็น คือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ สำหรับทุกคน" 

 

ด้วยนโยบายกว่า 200 เรื่อง ที่ประกาศไปสู่ “เมืองน่าอยู่” นั่นคือ ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สุขภาพดี โครงสร้างดี เรียนดีและบริหารจัดการดี (คลิก 214 นโยบาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ )

 

แต่จะว่าไปเมื่อลองมาดูงบประมาณสำหรับการเอาไปทำในแต่ละเรื่องแล้ว อาจมีข้อจำกัด และอาจทำไม่สำเร็จทั้งหมด เพราะเจ้าตัวบอกว่าบางเรื่องอาจต้องใช้เวลายาวนานเกิน 4 ปีในการแก้ไขปัญหา และหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องการใช้งบประมาณ 

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

โดยในปี 2565 กรุงเทพมหานคร มีวงเงิน งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 79,855 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร

 

ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ล่าสุดยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำร่างข้อบัญญัติฯ เสนอสภากทม.ภายในเดือนมิถุนายน 2565 นี้

 

อย่างไรก็ตามแม้งบประมาณที่ผ่านการจัดทำร่างข้อบัญญัติฯ ของกทม.จะยังไม่เสร็จ แต่สำหรับงบประมาณก้อนใหญ่ของประเทศ ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เสร็จสิ้นไปแล้ว

 

ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ ก็ได้กำหนดวงเงินที่จะจัดสรรให้กับกรุงเทพมหานครเอาไว้ โดยเป็นงบประมาณรายจ่าย 22,284 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณอีก 685 ล้านบาท 

 

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ฉบับที่สำนักงบประมาณเสนอครม. นั้น เป็นการดำเนินการในยุคของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. และเป็นหนึ่งในผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่อกหักไปในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ดังนั้นเมื่อ “ชัชชาติ” เข้ามาแล้ว การทำสารพัดนโยบายที่ประกาศไว้ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ จะทำยังไงต่อไป หรืออาจต้องทบทวนบางเรื่องใหม่ ถือเป็นสิ่งที่น่าจับตา 

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบรายละเอียดของงบประมาณ ปี 2566 ฉบับนี้ พบว่ามีรายละเอียดของการจัดสรรงบประมาณแยกไปยังส่วนต่าง ๆ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

  • งบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ วงเงิน 22,159 ล้านบาท 
  • งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ วงเงิน 124 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ วงเงิน 22,159 ล้านบาท กำหนดไว้เพื่อนำไปใช้จัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนในกทม. และภารกิจโอนถ่ายด้านการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน สังคม และสิ่งแวดล้อม ในจำนวนนี้มีรายละเอียดดังนี้

 

เงินอุดหนุนทั่วไป วงเงิน 20,616 ล้านบาท แบ่งเป็น

 

1. ค่าใช้จ่ายบุคลากร เช่น เงินอุดหนุนบุคลากรปฏิบัติงานการป้องกันควบคุมและบรรเทาอัคคีภัยและสาธารณภัย และเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาภาคบังคับ 9,429 ล้านบาท

 

2. ค่าใช้จ่ายดําเนินงาน มีรายละเอียดดังนี้

  • เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล 61 ล้านบาท
  • เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ 1.4 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายโครงการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการศึกษาสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ 35 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายโครงการผลิตแพทย์เพิ่มของสำนักงานคณะกรรมการ อุดมศึกษาตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข 108 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพความพิการ 892 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 7,026 ล้านบาท
  • เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข 165 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนเป็นค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข ในการปฏิบัติงานสาธารณสุขเชิงรุก 136 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวัน 1,064 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายงานบริการด้านการรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาต 501,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายงานสูบน้ำนอกเขตกรมชลประทานและการบำรุงรักษา 6.3 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนการสงเคราะห์คนชราบ้านบางแคสอง 9.9 ล้านบาท 
  • เงินอุดหนุนศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุดินแดง 3.5 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายดูแลบำรุงรักษาคลอง 7.2 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนสำหรับกิจกรรมศูนย์เด็กเล็ก 14 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนโครงการอาหารเสริม (นม) 459 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1,105 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนสำหรับแก้ไขยาเสพติดในพื้นที่กทม. 34 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาเอดส์ 52 ล้านบาท

 

เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ วงเงิน 1,543 ล้านบาท โดยเป็นค่าที่ดิน/สิ่งก่อสร้าง ดังนี้

  • ค่าจัดกรรมสิทธิ์โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย 600 ล้านบาท
  • ค่าก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลงเปรมประชากรจากคลองบ้านใหม่ถึงหมู่บ้านแกรนด์คาแนล 30 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ช่วงที่ 2 รวมทางขึ้นลง 84 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างอุโมค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา บริเวณคอขวด 126 ล้านบาท
  • ก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย เพิ่มเติม พื้นที่ห้วยขวางเข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำ 63 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างอุโมค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลางแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงซอยลาดพร้าว 130 วงเงิน 120 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 418 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองเปลมประชากร ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ 47 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์และบุคลากรของคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล เขตคลองสาน 28 ล้านบาท
  • ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา 548,000 บาท
  • ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 20 ล้านบาท

 

ภาพประกอบจาก : Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์