ตื่นสงคราม ปุ๋ยโลกพุ่ง โรงงานผลิตไทยของขาด “ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว” แห่ซื้อตุน

13 มี.ค. 2565 | 15:53 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2565 | 22:59 น.
3.4 k

ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วปุ๋ยเคมีตื่น รัสเซียห้ามส่งออก สงครามยูเครนส่อยื้อ แห่ซื้อตุนสินค้า โรงงานนำเข้าแม่ปุ๋ยระส่ำ ของขาด ราคาพุ่ง“จีน” ทุบซ้ำสั่งโรงงานผลิตของจีนทั่วโลกส่งสินค้ากลับประเทศ ดันเป้าจีดีพีโต 5.5% ผลิตธัญพืช 650 ล้านตัน ฟาดหาง 2 รง.ในลาวแจ้งไม่มีของส่งไทย

สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ การเจรจา 3 ครั้งยังคว้าน้ำเหลว การเจรจาครั้งล่าสุด (7 มี.ค. 65) รัสเซียยื่น 4 เงื่อนไขพร้อมยุติการปฏิบัติการทางทหาร หากยูเครนสามารถทำได้ และก่อนหน้านั้นเพียง 1 วันประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้สั่งห้ามส่งออกปุ๋ยเคมี (รัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกแม่ปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก) ส่งผลให้อุปทานปุ๋ยตึงตัว และราคาปรับตัวสูงขึ้น ลามกระทบถึงไทย จากปีที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าแม่ปุ๋ยจากรัสเซียปริมาณ 4.45 แสนตัน มูลค่า 5,670 ล้านบาท (จากการนำเข้าจากทั่วโลก 73,430 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 8% และเป็นอันดับ 4 ของการนำเข้าปุ๋ยของไทยจากทั่วโลก

 

ผลกระทบสงคราม รัสเซีย-ยูเครน

 

แหล่งข่าวจากโรงงานนำเข้าปุ๋ยเคมี เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  จากที่รัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. สถานการณ์ก่อนหน้านั้นราคาแม่ปุ๋ย (ที่ไทยนำเข้าเกือบทั้งหมดเพื่อนำเข้ามาผสมเป็นปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ) มีแนวโน้มราคาต่ำลง แต่หลังจากรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนให้หลังเพียง 3 วัน ราคาแม่ปุ๋ยได้ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด ณ วันที่ 9 มี.ค. 2565 ราคาแม่ปุ๋ยยูเรียในในตลาดโลกได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 950 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน  ขณะที่ราคาซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือน เม.ย.สูงกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือราคาปรับขึ้นจากวันที่ 24 ก.พ. (เฉลี่ยที่ 615 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน)  55-63%

 

 ทั้งนี้จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่อยืดเยื้อ ทำให้เกิดความกังวลในวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกแม่ปุ๋ยยูเรียอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะข้อกังวลรัสเซียถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ ยุโรป และนานาชาติมากขึ้น ระยะสั้นส่งผลให้ราคายูเรียที่อียิปต์ปรับตัวสูงขึ้นไป 22% จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นในทันทีที่มีการโจมตีเกิดขึ้น เช่นเดียวกับตลาดปุ๋ยไนโตรเจนที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น

 ขณะที่ตลาดแม่ปุ๋ยได-แอมโมเนียม ฟอสเฟต (DAP) คาดจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในครั้งนี้ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ เช่นกัน และยังเกิดความไม่แน่นอนในการส่งออกแม่ปุ๋ยของจีน ขณะที่ความต้องการใช้ปุ๋ยทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ( MOP) ก็อยู่ภายใต้แรงกดดัน จากผลที่จะตามมาหลังรัสเซียถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบความไม่แน่นอนในการส่งออกปุ๋ยของเบลารุสที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซีย ทำให้การซื้อขายล่วงหน้าค่อนข้างหยุดนิ่งในสัปดาห์นี้

 

ราคาปุ๋ยเคมีโลก

 

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้ปุ๋ยเคมีในไทยมีน้อย แนวโน้มขาดแคลน และส่งสัญญาณปรับขึ้นทุกสูตร (สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงพาณิชย์ขอปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมีแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา) ขณะนี้จากสินค้ามีน้อย ผู้ค้าที่เป็นยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ได้แย่งซื้อปุ๋ยจากโรงงานเพื่อตุนไว้ขายให้เกษตรกร ทำให้เวลานี้สินค้าขาดแคลน โรงงานส่วนใหญ่ไม่มีของ  ส่วนของที่จะนำเข้ามาใหม่มีราคาสูงมาก จะซื้อบางสูตรเท่านั้น แต่สูตรไหนราคาแพงมากซื้อไม่ไหวก็จะปล่อยให้ขาดตลาดไป เพราะ 2 เดือนที่ผ่านมาก็ขายปุ๋ยขาดทุน เป็นปีที่ลำบากของผู้ประกอบการ เฉลี่ยขาดทุนตันละ 2,000-3,000 บาท

 

 

“จากที่ถูกกระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคาขาย ไม่ให้ปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ผู้นำเข้าไม่สั่งของ เพราะหากนำเข้ามาแล้วจะต้องขายขาดทุนก็ไม่มีเหตุผลที่จะนำเข้า ซึ่งหากปุ๋ยราคาแพง เกษตรกรก็ใช้น้อยอยู่แล้ว ผลผลิตก็จะลดลงจะกระทบภาพใหญ่มาก ขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์มาตรฐานก็เริ่มขาดตลาดแล้ว จะเปิดช่องให้ปุ๋ยไม่มีคุณภาพทะลักเข้ามาในตลาด”

ล่าสุดโรงงานปุ๋ยเคมีของประเทศจีนที่ตั้งอยู่ใน สปป.ลาว 2 แห่ง ได้โทรมาแจ้งว่า จีนขาดแคลนปุ๋ย ได้ส่งหนังสือมาที่โรงงานให้ส่งสินค้ากลับประเทศทั้งหมด เพราะนโยบายของรัฐบาลจีนปี 2565 ได้ตั้งเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีที่ 5.5% โดยในส่วนของการเพาะปลูกตั้งเป้าจะได้ผลผลิตธัญพืชทุกชนิดรวม 650 ล้านตัน จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยในการเพิ่มผลผลิต

 

 “จากนโยบายของรัฐบาลจีนดังกล่าว ทำให้ปุ๋ยในตลาดที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ยิ่งขาดแคลนเข้าไปอีก จะส่งผลทำให้ราคาแพงขึ้น ต่อไปมีเงินก็ซื้อไม่ได้ ปีนี้น่าจะขาดจริง” แหล่งข่าวกล่าว