โควิด “โรคประจำถิ่น” ถึงเวลาเร่งปิดเกมพิษระบาดหรือยัง ?

01 ก.พ. 2565 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2565 | 17:14 น.
5.2 k

ยังเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมา สำหรับการให้ โควิดเป็น “โรคประจำถิ่น” ถอดออกจากบัญชีโรคติดต่ออันตราย เพื่อเร่งปิดเกมพิษระบาด

ถ้า “โควิด” เป็น “โรคประจำถิ่น” หรือ ถูกถอดออกจากบัญชีโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด แล้วผลต่อเนื่องจะเป็นอย่างไร ? เป็นคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากกระทรวงสาธารณสุขส่งสัญญาณว่า “เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับโควิดไปแบบไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่”  

แม้ "องค์การอนามัยโลก (WHO)" จะเตือนว่าอย่างเพิ่งวางใจมองโควิดเหมือนไข้หวัด โดยเชื่อมั่นว่าภายในปีนี้โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ เร็วช้าขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ และความร่วมมือจากประชาชน

ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติหารือในประเด็นสำคัญหนึ่งในนั้น คือ เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) ภายใต้หลักเกณฑ์-เงื่อนไข 

ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน อัตราป่วยตายน้อยกว่า ร้อยละ 0.1 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 แต่ประชาชนก็ยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการสาธารณสุขเคร่งครัดเหมือนเดิม  

พร้อมทั้งได้มีการวางหลักเกณฑ์ไว้ 2 เฟส คือ 6 เดือนแรก และ 6 เดือนหลัง หากไม่มีเชื้อกลายพันธุ์ ประมาณ 6 เดือน มีการฉีดวัคซีนที่ครบ การควบคุมโรค และกฎหมายต้องสอดคล้องกัน

ประเทศไทยเข้าเกณฑ์เพียง 1 ข้อ เท่านั้น คือ ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย / วัน ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรักษาระดับอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 8,000 ราย ต่อวัน  ซึ่ง ยอดโควิดวันนี้ 1 กุมภาพันธ์ 65 ติดเชื้อเพิ่ม 7,422 ราย เสียชีวิต 12 คน หายป่วย 8,715 ราย

โควิด “โรคประจำถิ่น”  ถึงเวลาเร่งปิดเกมพิษระบาดหรือยัง ?

การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมถึง 475 คน 0.22% ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งเเต่ปี 2563 มีผู้เสียชีวิตรวม 22,173 คน

โควิด “โรคประจำถิ่น”  ถึงเวลาเร่งปิดเกมพิษระบาดหรือยัง ?

กรมการแพทย์ รายงานสถานการณ์เตียงกรุงเทพฯและปริมณฑล วันที่ 28 มกราคม 2565 รวมทุกกลุ่ม มีเตียงทั้งหมด 67,804 เตียง ครองเตียงไปแล้ว 22,639 เตียง เตียงว่างทุกกลุ่ม 45,165 เตียง อัตราครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 33.39

ในส่วนของการฉีดวัคซีนขณะนี้ ไทยฉีดวัคซีนไปแล้วสะสม (28 ก.พ. 2564 - 30 ม.ค. 2565) รวม 115,053,572 โดส เเยกเป็นกลุ่มเป้าหมายสะสม 69,556,204 คน 

  • บุคคลากรทางการเเพทย์เเละสาธารณสุข 758,050 คน
  • อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 988,797 คน 
  • ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค 4,722,047 คน 
  • ประชาชนทั่วไป 38,226,241 คน 
  • ผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป 12,711,943 คน 
  • นักเรียน/นักศึกษา อายุ 12-17 ปี  4,754,082 คน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 7,395,044 คน 

โควิด “โรคประจำถิ่น”  ถึงเวลาเร่งปิดเกมพิษระบาดหรือยัง ?

เเต่กลุ่มเสี่ยงอย่างเฉพาะในกลุ่ม 607 ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 พบว่า กลุ่มที่เกิน 80% เป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค

  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดสะสม 61.5%
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ฉีดสะสม 100.4%

ขณะที่จังหวัดที่มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนโควิด เข็มที่ 2  กลุ่ม 607 คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ต่ำที่สุด 10 จังหวัด 

  1. ปัตตานี
  2. นราธิวาส
  3. เเม่ฮ่องสอน
  4. สระเเก้ว
  5. นครสวรรค์
  6. ลพบุรี
  7. ยะลา
  8. นนทบุรี
  9. พิษณุโลก
  10. สมุทรสงคราม

โควิด “โรคประจำถิ่น”  ถึงเวลาเร่งปิดเกมพิษระบาดหรือยัง ?

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สรุปคำว่า โรคประจำถิ่น ต้องมีการติดเชื้อที่ค่อนข้างคงที่ การติดเชื้ดคาดเดาได้ และสายพันธุ์ไม่เปลี่ยนแปลงมาก อาการรุนแรงไม่มาก

 

คำถามสำคัญก็คือ โรคโควิด-19 ต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะมีการระบาดกว้างขวางมากว่า 2 ปี ซึ่งระยะการระบาดใหญ่ทั่วโลกมี 3 ระยะ คือ 1. Pre-Pandemic ก่อนระบาดทั่วโลก 2. Pandemic มีการระบาดทั่วโลกกินเวลาสั้นๆ 1-2 ปี หรือหลายปี และ 3. Post-Pandemic เข้าสู่โรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไป เมื่อมีจุดสูงสุดก็ต้องลงมาสักวันหนึ่ง

 

คำว่า Pre-Pandemic องค์การอนามัยโลกระบุ 5-6 ขั้นตอน  -ขั้นตอนเเรก เจอไวรัสตัวใหม่ อาจมาจากสัตว์และมาเจอในคน จากนั้นติดต่อคนสู่คนจากทางเดินหายใจ ระบาดกว้างขวาง เมื่อเข้าสู่โควิด-19 มา 2 ปี หลังจากระบาดใหญ่ ทิศทางจะเป็นอย่างไร ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไปนั่นเอง ซึ่งทิศทางการจัดการก็จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกัน

 

“ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า เมื่อไหร่จะผ่าน Pandemic หรือเป็น Post-Pandemic แต่คิดว่าภายในปีนี้น่าจะจัดการให้ผ่านพ้นการระบาดใหญ่ได้ ด้วยเหตุผล คือ คนทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 1 หมื่นล้านโดส โดยประเทศไทยฉีดไปเกิน 115 ล้านโดส หรือคนไทยได้รับอย่างน้อย 2 เข็ม และอีกประการคือ ไวรัสกลายพันธุ์ ล่าสุดเป็นเชื้อโอมิครอน แม้ระบาดเร็วแต่ความรุนแรงน้อยลง เมื่อสถานการณ์คงที่ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ไม่ได้แปลว่าจะเปลี่ยนเลย” นพ.โอภาส กล่าว

 

ระดับของโรคติดต่อและประเภทของโรคติดต่อตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง แบ่งได้อย่างน้อย 4 ระดับ

  • ระดับที่ 1 เรียกว่า Endemic (โรคประจำถิ่น) คือ มีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างกลุ่มประเทศ หรือทวีป เช่น ไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา
  • ระดับที่ 2 คือ Outbreak (การระบาด) คือ เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทั้งในกรณีโรคประจำถิ่น แต่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือในกรณีโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว เช่น การระบาดของไข้เลือดออกในปี 2562 การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น
  • ระดับที่ 3 Epidemic (โรคระบาด) เป็นการระบาดของโรคที่แพร่กระจายกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งโรคระบาดที่แผ่ไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้นนั้นเป็นการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้ เช่น โรคอีโบลาที่ระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตกในปี 2557-2559 การระบาดของ COVID-19 ในประเทศจีน และระบาดต่อมายังประเทศอื่นในทวีปเอเชีย ซึ่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ในช่วงแรกยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการก็ได้รับการเรียกขานว่า COVID-19 และค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด
  • ระดับการระบาดสูงสุด เรียกว่า Pandemic (การระบาดใหญ่/ทั่วโลก) เป็นลักษณะของการระบาดของโรคที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 (Spanish flu) หรือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของ COVID-19 ในอย่างน้อย 122 ประเทศทั่วโลก

 

ทันทีที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติหยั่งเชิงว่าจะประกาศให้โควิด-19 เป็น โรคประจำถิ่น ดูเหมือนว่าจะมี 2 ฝั่งที่เห็นด้วยและมาเห็นด้วย ทางฝั่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ออกมาแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามที่อาจแสดงให้เห็นช่องว่างของคณะกรรมโรคติดต่อที่จะให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

 

“นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ไม่ว่าจะเป็นโควิดไม่ได้อยู่ในโรคติดต่ออันตราย ไม่ต้องมีการตรวจคัดกรองแยกกักตัว? ไม่ต้องมีการรายงาน? ถ้าเป็นการรักษา ต่อไปนี้ใช้สิทธิ์ของแต่ละคนเช่นใช้บัตรทอง? ไม่ต้องมีการชดเชยการประกอบธุรกิจค่าเสียหาย? การตรวจใดๆ เป็นการตรวจที่ต้องเสียเงินเอง? วัคซีนที่ใช้อยู่เป็นวัคซีนที่ออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น และปัจจุบันในประเทศไทยยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบจากวัคซีนได้ จาก สปสช. แล้วต่อจากนี้ยังสามารถรับค่าชดเชยได้หรือไม่ ?

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ว่า โควิด-19 ไม่มีโอกาสเป็นโรคประจำถิ่น เพราะยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะระบาดอยู่เฉพาะถิ่น และได้พูดถึงโรคติดต่อ โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง และพระราชบัญญัติโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง

 

แม้ตอนนี้จะยังไม่มีการประกาศออกมาชัดเจนและมีการออกมายืนยันเรื่องสิทธิการรักษาของประชาชนแล้วว่าสามารถใช้สิทธิได้ตามกฎหมายก็ตาม ซึ่งประเทศไทยมีทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ แต่กระแสที่หนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังคงทำให้สังคมเกิดคำถามมากมายถึงผลกระทบที่ตามมาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

ทั้งการเข้ารับการรักษาพยาบาล ฉีดวัคซีน การใช้ชีวิตประจำวัน มาตรการทางสังคม นอน Hospitel ได้หรือไม่ การเข้าออกประเทศ การบังคับใช้มาตรการสำหรับนักท่องเที่ยว คำสั่ง ศบค. ต่างๆที่ออกมาบังคับใช้ 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเยียวยา การชดเชย ทั้งจากรัฐและเอกชน บริษัทประกันภัยเอกชนที่ยังมีปัญหาตกค้างเรื่องการจ่ายเงินชดเชยผู้ป่วยโควิด มีบางบริษัทขอเลิกกิจการไปก็มี และอีกหลายคำถามที่หน่วยงานสาธารณสุขจะต้องตอบคำถามให้กระจ่าง...