เปิดสาเหตุ วาด้าแบนไทย ปม แก้ พ.ร.บ.ควบคุมสารต้องห้าม ล่าช้า

20 ธ.ค. 2564 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2564 | 19:30 น.
5.8 k

อะไรที่ทำให้ วาด้าแบนไทย ไร้ธงชาติชาติโบกสะบัดบนเวทีโลก แก้ พ.ร.บ. ควบคุมสารต้องห้าม ล่าช้า จนต้องร่างกฎหมายแก้ไขสารต้องห้าม ให้ ครม.พิจารณา ออกเป็น พ.ร.ก. ก่อนส่งให้วาด้าพิจารณา คาดเสร็จกุมภาพันธ์ 2565

เมื่อ “ธงชาติไทย” โบกสะบัดบนเวทีโลก ย่อมหมายถึงศักดิ์ศรี และหน้าตาของประเทศ แต่ครั้งนี้ก็กลายเป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ อีกครั้งกับคำถามที่ว่าทำไม ธงชาติไทยไม่ได้โบกสะบัด

หลังจากที่ “บาส เดชาพล” และ “ปอป้อ ทรัพย์สิรี” คู่ผสมมือ 1 ของโลกขวัญใจชาวไทย ได้รับเหรียญทองศึกแบดมินตันชิงแชมป์โลก ณ เมืองอูเอลบาร์ ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งกลับต้องใช้ธงเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัว เขียนว่า BAT (Badminton - Association - Thailand)

นั่นเพราะการลงดาบของวาด้า WADA องค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลกต่อวงการกีฬาไทย ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ถือเป็นข่าวใหญ่สุดของวงการกีฬาไทย เพราะจะโดนแบน โดยให้เหตุผลว่า

องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของประเทศไทยบกพร่องในการนำกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 ไปปรับใช้กับนักกีฬาในประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการใช้กฏหมายของประเทศไทย

พูดง่ายๆก็คือ พ.ร.บ.สารกระตุ้นฉบับปัจจุบันของไทยล้าหลังเกินไปในสายตาของวาด้า  

วาด้ากำหนดถึงสารเคมีที่เข้าข่ายเป็นสารกระตุ้นไว้ตามเกณฑ์ 3 ข้อดังนี้ คือ 1. มีศักยภาพในการสมรรถนะการเล่นกีฬา 2. มีความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นกับนักกีฬา 3. ละเมิดจิตวิญญาณของเกมกีฬา โดยสารเคมีใดที่เข้าข่าย 2 ใน 3 ข้อนี้ จะถือเป็นสารกระตุ้นที่ถูกแบนโดยวาด้า

 

อีกประเด็นก็คือ องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของประเทศไทย DCAT ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นอิสระในการทำงาน ตามกฎหมายขึ้นตรงอยู่กับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของวาด้า ที่ต้องการให้เป็นองค์กรเอกเทศ เพราะอาจเกิดช่องว่างในกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐมีส่วนในการควบคุมกิจการ อาจเกิดปัญหาละเลย ช่วยเหลือนักกีฬาที่ใช้สารต้องห้าม โดยไม่ได้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานที่วาด้ากำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

 

วาด้าขีดเส้นตาย 21 วัน แต่ไทยไม่ยอมเดินหน้าจัดการแก้ไข พ.ร.บ. เพราะขั้นตอนการแก้กฎหมายของไทยมีความซับซ้อนมากเกินไป ทั้งยังมีประเด็นที่ว่า รัฐบาลไม่กล้าเสนอ เพราะกลัวแพ้โหวต 

 

เรื่องนี้ส่งผลให้วงการกีฬาไทยต้องยอมรับบทลงโทษ 4 ข้อ คือ ไม่สามารถร่วมเป็นกรรมการและรับทุนสนับสนุนจากวาดาได้ กรรมการชาวไทย ในสหพันธ์กีฬานานาชาติ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี  ไม่สามารถจัดกีฬานานาชาติระดับภูมิภาค ทวีป และโลก ยกเว้นโอลิมปิก และพาราลิมปิกเกมส์ และ ห้ามใช้ธงชาติไทย เพลงชาติไทย ในกีฬาระดับภูมิภาค ทวีป และโลก

 

บทลงโทษนี้จะคงสถานะไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น หากไทยไม่สามารถแก้ไขข้อกฎหมายได้ตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกของวาด้า

 

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ชี้แจงว่าไทยไม่เคยบกพร่องการตรวจสอบและควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา เพียงแต่ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 ที่กำหนดให้นักกีฬาสามารถตรวจสารกระตุ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่กฎหมายของประเทศไทยกำหนดให้นักกีฬาสามารถตรวจสารกระตุ้นในระหว่างเวลาทำการ

 

แก้กฎหมาย ใน พ.ร.บ. ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ไทยทำอะไรไปถึงไหนแล้ว

 

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เคยกล่าวว่า ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตลอด ซึ่งกรณีของไทยแตกต่างจากอินโดนีเซีย และ เกาหลีเหนือที่โดนแบนจากการที่ไม่ได้ตรวจสอบ และควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาคือจะมีการออกกฏหมายพิเศษเป็นพระราชกำหนด  (พ.ร.ก.)และเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปกฏหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จเมื่อ 10 พ.ย.64 และเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป เพื่อให้ออกมาเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก่อน

 

โดยคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และจะส่งเรื่องให้วาด้าพิจารณา ส่วนการแยกออกเป็นองกรค์อิสระนั้นแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของ กกท. เพราะจะต้องมีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ เรื่องบุคคลากร และเงินสนับสนุนด้วย