สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ม.40 ม.39 มีอะไรบ้าง ฟรีแลนซ์สมัครดีไหม คลิกที่นี่

28 ต.ค. 2564 | 11:39 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 18:51 น.
14.6 k

รอบ 6 เดือนปี 64 ยอดผู้ประกันตนประกันสังคมเพิ่มขึ้นกว่า1.75 แสนราย โดยเฉพาะเป็นการเพิ่มจำนวนของผู้ประกัน มาตรา 39 และ มาตรา 40 ลองมาดูว่าสิทธิประโยชน์และข้อแตกต่างของทั้ง 2 มาตรา มีอะไรบ้าง อาชีพฟรีแลนซ์ สมัครดีไหม

ช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกันตนรู้จักสำนักงานประกันสังคมมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก มาตรการเยียวยา ผู้ประกันตนประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ดังจะเห็นว่ายอดผู้ประกันตนในความคุ้มครองของกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น 

จากฐานข้อมูลสำนักงานประกันสังคม  ณ สิ้นไตรมาส 2/ 2564 มีจำนวนผู้ประกันตนทุกมาตรา 16,606,720 คน เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 จำนวน 175,755 ราย หรือ 1.06% โดยเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 39 มีจำนวน 1,897,113 คน เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 จำนวน 97,327 ราย หรือเพิ่ม 5.41% และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 3,611,621 คน เพิ่มขึ้น 102,651 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2.92% เว้นก็แต่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งมีจำนวน 11,097,986 คน ลดลงจากสิ้นปีที่ผ่านมา 26,223 ราย หรือลดลง 0.24% 

ข้อแตกต่างของผู้ประกันตน ม.33,ม.39,ม.40

อย่างไรก็ดีผู้ประกันตนประกันสังคมทั้งในส่วนของภาคบังคับ (มาตรา 33 ) และภาคสมัครใจ ( มาตรา 39, มาตรา 40 ) อาจจะยังไม่ทราบถึงข้อแตกต่างของทั้ง 3 มาตรา ซึ่งหลักๆก็เป็นทางด้านสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครในแต่ละมาตรา

โดยมนุษย์เงินเดือนจะถือเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 (ม.33) ซึ่งเป็นภาคบังคับ สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคม จะครอบคลุม 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร 
ชราภาพ และ ว่างงาน โดยผู้ประกันจะต้องส่งเงินสมทบ 5% ของค่าจ้างที่ได้รับ (ฐานค่าจ้างขั้นต่ำที่ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท )

ส่วนฟรีแลนซ์จะแบ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (ม.39) สำหรับคนที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือน พอลาออกมาก็ส่งเงินสมทบต่อเอง แค่จะไม่ได้รับการคุ้มครองกรณีว่างงานเท่านั้น และผู้ประกันตนมาตรา 40 (ม.40) สำหรับคนที่ไม่เคยทำงานประจำมาก่อน ซึ่งทั้งสองมาตรานี้ถือเป็นภาคสมัครใจ

 

สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ม.40 ม.39 มีอะไรบ้าง ฟรีแลนซ์สมัครดีไหม คลิกที่นี่
 

กรณีเจ็บป่วย

ผู้ประกันตน มาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเหมือน มาตรา 33 ในขณะที่ผู้ประกันตน มาตรา 40 จะไม่ได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคม แต่สามารถใช้สิทธิจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทอง โดยสามารถขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อนอนโรงพยาบาลจากประกันสังคม วันละ 300 บาท และกรณีหยุดพักรักษาตัวที่บ้านตามความเห็นแพทย์ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท แต่หากพักรักษาตัวที่บ้านตามความเห็นแพทย์ ไม่เกิน 2 วัน ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 และ 2 ก็สามารถขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ ครั้งละ 50 บาท

 

กรณีมีบุตร

ผู้ประกันตน มาตรา 40 เฉพาะทางเลือกที่ 3 เท่านั้น ถึงจะสามารถขอรับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 200 บาทต่อบุตรหนึ่งคน ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงบุตรอายุ 6 ปีบริบูรณ์ (รวมสูงสุด 14,400 บาท)

 

กรณีชราภาพหรือเกษียณอายุ

ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หากต้องการเกษียณอายุตนเอง สามารถแจ้งและหยุดส่งเงินสมทบเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบเงินก้อน ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ส่งสมทบและผลตอบแทนจากการลงทุนของประกันสังคม และสำหรับทางเลือกที่ 3 จะได้รับเพิ่มอีก 10,000 บาท หากส่งเงินสมทบประกันสังคมนานกว่า 15 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว สิทธิประกันสังคมที่คาดว่าจะได้ใช้มากที่สุดคือ กรณีเจ็บป่วย ดังนั้นในกรณีที่เป็นอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ก็อาจพิจารณามาตรา 40  ทางเลือกที่ 3 โดยส่งเงินสมทบประกันสังคม สูงสุดปีละ 3,600 บาท ถือว่าคุ้มค่า เพราะ มาตรา 40 ทางเลือก 3 ยังได้รับสิทธิอื่นๆ เช่น เงินทดแทนรายวันยามเจ็บป่วย เงินสงเคราะห์รายเดือนเมื่อมีบุตร เป็นต้น

 

อนึ่ง มติครม.ได้ปรับลดเงินนำส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ของนายจ้าง และผู้ประกันตน มีผบดังนี้

  • มาตรา 33 ส่งเงินสมทบเหลือ 2.5% จากอัตราปกติที่ 5% ต่อเดือน (สูงสุดที่ 375 บาท จากอัตราปกติสูงสุด 750 บาท ) มีผลตั้งแต่เดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2564
  • มาตรา 39 ส่งเงินสมทบเหลือ 235 บาท จากอัตราปกติ 432 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่เดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2564
  • มาตรา 40 ลดเงินนำส่งสมทบฯเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 - มกราคม 2565  ดังนี้

       -  ทางเลือกที่ 1 เหลือ 42 บาท จากอัตราปกติ 70 บาทต่อเดือน

       - ทางเลือกที่ 2 เหลือ  60 บาท จากอัตราปกติ 100 บาทต่อเดือน

       - ทางเลือกที่ 3 เหลือ 180 บาท จากอัตราปกติ 300 บาทต่อเดือน

 

ที่มา : สำนักงานประกันสังคม , ตลท.( เงินทองต้องวางแผน)