"โรคอ้วน" ภาวะอันตรายทำให้เกิดโรค NCDs

24 พ.ย. 2567 | 11:06 น.

"โรคอ้วน" ภาวะน้ำหนักตัวเกินจากไขมันสะสม นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่รักษาได้ยาก และส่งผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาว

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคอ้วน (Obesity) เป็น 1 ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases : NCDs) ที่ชักนำไปสู่โรคอื่นๆ มากมาย เช่น ไขมันสูง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ สมองขาดเลือด หัวใจขาดเลือด นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ข้อเข่าเสื่อม กรดไหลย้อน เส้นเลือดดำอุดตัน เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค NCDs สูงกว่า 62,138 ล้านบาท และมีคนไทยต้องเสียชีวิตจากโรค NCDsกว่า 4 รายต่อปี

\"โรคอ้วน\" ภาวะอันตรายทำให้เกิดโรค NCDs

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายแก้ไขปัญหา ผลักดันการส่งเสริมสุขภาพและแนวคิดวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่างๆ ให้เอื้อในการต่อสู้กับโรค NCDs สนับสนุนแนวคิดสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs เพื่อลดอัตราการป่วยก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและของประเทศ

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคอ้วนเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณไขมันในร่างกายที่มากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพอื่นๆ โรคที่ซับซ้อนนี้อาจเป็นผลมาจากปัจจัยที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม อาหาร ปัจจัยส่วนบุคคล ตลอดจนการเลือกออกกำลังกาย ซึ่งปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น กินอาหารหวานจัด เค็มจัด ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนดึก มีความเครียดสูง เป็นต้น 

\"โรคอ้วน\" ภาวะอันตรายทำให้เกิดโรค NCDs

โดยในปี 2565 มีสถิติโรคอ้วนจาก World Obesity Federation พบว่า ทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วนประมาณ 800 ล้านคน และข้อมูลของ สสส. ในปี 2557 ถึงปัจจุบันพบว่าคนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็น 34.1% มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน (อ้วนลงพุง) กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็น 37.5% ทั้ง 2 กลุ่มนี้ อาจเสี่ยงป่วยเป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ได้ แต่โรคนี้ก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นได้โดยการลดน้ำหนักไม่ให้เป็นโรคอ้วนนั่นเอง

ด้าน นายแพทย์เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ คลินิกโรคอ้วนครบวงจร กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรงพยาบาลราชวิถีมีคลินิกโรคอ้วนและเมแทบอลิซึม ที่ดำเนินงานโดยสหสาขาวิชาชีพ กำกับดูแลและพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลด้านโรคอ้วนและเมแทบอลิซึมอย่างเหมาะสม ตามมาตรฐานของแผนงานข้อเสนอแนะด้านการพัฒนาระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ และการผ่าตัดแผลเล็ก

ผู้ป่วยคลินิกโรคอ้วนและเมแทบอลิซึมจะได้รับการดูแลตั้งแต่การคัดกรอง การรักษาผ่าตัด และการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดโดยอายุรแพทย์ต่อมไรท่อและโภชนาการบำบัด และอายุรแพทย์โรคปอดและการนอนหลับ รวมถึงศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องและรักษาโรคอ้วน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และทีมสหสาขาวิชาชีพ ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น 

\"โรคอ้วน\" ภาวะอันตรายทำให้เกิดโรค NCDs

นับเป็นการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs และช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการปรับพฤติกรรม ทั้งการกินอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงาน ด้วยการนับคาร์บหรือคาร์โบไฮเดรตที่มาจากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและรัฐบาลได้ 

ปัจจุบันคลินิกโรคอ้วนและเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลราชวิถี ได้ดำเนินการมากว่า 3 ปี สถิติและผลการดำเนินงานในภาพรวม (ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน) มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดลดน้ำหนักทั้งสิ้น 160 คน แบ่งเป็น เพศชาย จำนวน 30 คน เพศหญิง จำนวน 130 คน ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เฉลี่ยของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด คือ 47.67 น้ำหนักเฉลี่ยของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด คือ 127 กิโลกรัม น้ำหนักสูงสุดของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด คือ 326 กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ยของผู้ป่วยหลังผ่าตัดครบ 1 ปี คือ 88 กิโลกรัม น้ำหนักส่วนเกิน (Excess weight loss) หลังผ่าตัดลดลง 68.4% ใน 1 ปี และผู้ป่วยโรคอ้วนที่เข้ารับบริการ ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น