ทำไม "โรคอ้วน" จึงเป็นต้นตอ "โรคมะเร็ง" นานาชนิด

06 ส.ค. 2567 | 09:55 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2567 | 09:56 น.

"โรคอ้วน" น้ำหนักเกิน ปัจจัยเสี่ยงสู่ "โรคมะเร็ง" หลายชนิด พบผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกกว่า 544,300 ราย ที่เชื่อมโยงกับภาวะอ้วน นอกจากนี้ผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นโรคอ้วนยังมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้น 17% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักปกติ

นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) กล่าวว่า ท่ามกลางเทรนด์รักสุขภาพที่ใคร ๆ ก็ต่างจับตามองว่าเป็นเทรนด์ที่กำลังจะมาเปลี่ยนพฤติกรรมให้ผู้คนทั่วโลก ในอีกมุมหนึ่ง โรคที่ยังคงขยายตัวมากขึ้นทั่วโลกและยังไม่มีท่าที่ว่าจะมีเทรนด์ไหนมาล้มล้างได้คือ ‘โรคอ้วน

โรคอ้วนเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก เพราะภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มความเสี่ยงในโรคหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA) ปัญหาข้อต่อ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคเบาหวานประเภทที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโดยเฉพาะ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกว่า 13 ชนิด

อ้างอิงจากข้อมูลในปี พ.ศ. 2563 จากสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ผู้คนราว 1 พันล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน และสำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี พ.ศ. 2566 คนไทยมีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35% แถมตัวเลขเหล่านี้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

ทำไม \"โรคอ้วน\" จึงเป็นต้นตอ \"โรคมะเร็ง\" นานาชนิด

ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า อยากให้สังคมตระหนักเห็นภัยร้ายของโรคอ้วน และหยุดการเพิ่มขึ้นของวิกฤตโรคอ้วน เพื่อเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็ง โรคที่คร่าชีวิตของผู้คนไปมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะแม้ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งจะมีหลายปัจจัย แต่การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้จริง

โรคอ้วนสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งขนาดนั้นจริงหรือไม่

นายแพทย์ธีรวุฒิ กล่าวว่า ทั่วโลกพบโรคอ้วนเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง 3.9% คิดเป็น 544,300 ราย และโรคอ้วนยังมีผลต่อการรักษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งแล้ว โดยผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะอ้วนมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ไม่อ้วน 17% และผลแทรกซ้อนจากการรักษาก็มากขึ้นด้วย รวมถึงมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ สูงขึ้น 13% โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ สำหรับกลไกเกี่ยวกับโรคอ้วนต่อความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งคือ

  • เนื้อเยื่อไขมัน (Adipose tissue) ทำหน้าที่ปล่อยสารเคมีและเอนไซม์ออกมาเป็นฮอร์โมนเพศชายและหญิง (Estradiol และ Androgen) การที่มีการสร้างฮอร์โมนมากเกินไปกว่าฮอร์โมนเดิม จึงสัมพันธ์กับการเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งอื่น ๆ

ทำไม \"โรคอ้วน\" จึงเป็นต้นตอ \"โรคมะเร็ง\" นานาชนิด

  • โรคอ้วนทำให้เกิดภาวะอินซูลินสูง (Hyperinsulinemia) และสาร Insulin-like growth factor 1 (IGF-1) สูงขึ้นผิดปกติ และคนอ้วนมักมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin-resistance) จึงเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานและมะเร็ง
  • เนื้อเยื่อไขมัน (Adipose Tissue) จะปล่อยสารเคมี ชื่อว่าอดิโพไคน์ (Adipokine) มาหลายชนิด เช่น สารเลปติน (Leptin) ทำให้เกิดการอักเสบ และเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ ยับยั้งการตายโดยธรรมชาติอย่างเป็นระบบของเซลล์ (Apoptosis) แต่ในขณะเดียวกันโรคอ้วนกลับทำให้สาร อะดิโพเนคติน (Adiponectin) ซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการขยายตัวของเซลล์กลับลดน้อยลง ดังนั้นเซลล์จึงมีการเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
  • เนื้อเยื่อไขมันยังเป็นตัวการทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งในท่อน้ำดี มะเร็งตับ และมะเร็งอื่น ๆ นอกจากนี้ สารอดิโพไคน์ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมะเร็งอ่อนแอลง และเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเนื้อเยื่อที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ง่าย

แม้โรคอ้วนจะไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งโดยตรง แต่ก็ส่งผลต่อร่างกายจนทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น นายแพทย์ตนุพลเสริมว่า การหลั่งฮอร์โมนไขมันที่ผิดปกติส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันลดประสิทธิภาพลง การทำงานเซลล์เพชฌฆาต หรือ NK-cell (Natural Killer cell) เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็ง ก็ได้รับผลกระทบด้วยนั่นเอง จึงเป็นสาเหตุที่ความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นตามน้ำหนักตัว

พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีเสี่ยงมะเร็งเพิ่ม

การบริโภคพลังงานมากเกินกว่าความต้องการของร่างกายเป็นระยะเวลานาน เป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อื่น ๆ นอกจากพลังงานส่วนเกินแล้ว อาหารบางประเภทมีความสัมพันธ์ชัดเจนต่อการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง

ข้อมูลจาก The International Agency for Research on Cancer (IARC) หรือแผนกวิจัยเรื่องโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO)  จัดให้ เนื้อสัตว์แปรรูป (Processed Meat) หรือเนื้อสัตว์ทุกประเภทที่ได้รับการเก็บรักษาโดยการรมควัน การหมักเกลือ การบ่ม หรือการบรรจุกระป๋อง เช่น ไส้กรอก ซาลามี่ แฮม เบคอน กุนเชียง ลูกชิ้น หมูยอ

เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (กลุ่มที่ 1) โดยมีหลักฐานที่เพียงพอในมนุษย์ว่าการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และกระเพาะอาหาร  และจัดให้ เนื้อแดง (Red Meat) ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู อยู่ที่กลุ่ม 2A มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์

ผู้ร้ายคือ สารกันเสีย ‘ไนเตรท’ หรือ ‘ไนไตรท์’ ซึ่งถูกเติมลงไปในขั้นตอนแปรรููปเนื้อสัตว์ เพื่อถนอมอาหาร ปรุงแต่งสีและรสชาติ แต่สารนี้กลายเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ภายในร่างกายเกิดเป็น สารไนโตรซามีน (Nitrosamines) เป็นกลุ่มของสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (N-nitroso-compounds; NOCs) อีกทั้ง สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) ที่เกิดระหว่างกระบวนการแปรรูป และการปรุงอาหารโดยการอบ ปิ้ง ย่าง เป็นต้น

ในเนื้อแดงเองมีสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง หรือ ฮีม (Heme Iron) ซึ่งสามารถเร่งการสร้างสารก่อมะเร็งอย่างสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (NOCs) ได้เช่นกัน รวมทั้งการประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนสูง เช่น การทอด การปิ้งย่าง ในอาหารประเภทเนื้อสเต็ก เบอร์เกอร์ หมูกระทะ

สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็งจำพวก เฮเทอโรไซคลิกแอโรแมติกเอมีน (Heterocyclic Aromatic Amines; HAA) และ สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ได้เช่นกัน ซึ่งพบว่าสารเหล่านี้สามารถทำลายเซลล์ผนังลำไส้ได้มีข้อมูลชี้ให้เห็นว่า การรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปวันละ 50 กรัม หรือเพียงแค่ 3 ช้อนกินข้าว เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 18 % และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 ได้สูงถึง 51%

นอกจากนี้ การบริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปในปริมาณที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอ้วน เนื้อแดงและเนื้อแปรรูป ถูกจัดเป็นเนื้อสัตว์พลังงานสูง มีคอเลสเตอรอล และไขมันอิ่มตัวปริมาณมาก รวมถึงวิธีปรุงประกอบเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป มักใช้น้ำมัน เนย น้ำตาล หรือรับประทานคู่กับคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ที่บริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปมีแนวโน้มรับประทานอาหารพลังงานสูง และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

ทำไม \"โรคอ้วน\" จึงเป็นต้นตอ \"โรคมะเร็ง\" นานาชนิด

นายแพทย์ตนุพล กล่าวว่า รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคู่กับการออกกำลังกาย พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อดูแลน้ำหนักตัวให้เหมาะสมและลดความเสี่ยงมะเร็งจะมีหลายอย่างด้วยกัน โดยเริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดความเสี่ยงโรคอ้วน และป้องกันการเกิดมะเร็งได้

1. เริ่มต้นจากอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

เพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง นายแพทย์ตนุพลแนะนำให้ลดการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปให้น้อยที่สุด และเลือกรับประทานโปรตีนจากพืช เช่น กลุ่มถั่วเมล็ดแห้ง (ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ถั่วลูกไก่) เต้าหู้ขาว เทมเป้ และโปรตีนเนื้อขาวไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดหนัง ไข่ขาว เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญคือการรับประทานผักหลากหลายชนิด ธัญพืชไม่ขัดสี เห็ดต่าง ๆ และเลือกแหล่งโปรตีนจากเต้าหู้หรือถั่วหลากชนิด

นายแพทย์ตนุพลแนะนำแนวทาง การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ซึ่งเน้นการรับประทานอาหารจากพืชที่ไม่ผ่านการแปรรูป (Whole food, plant-based diet) ซึ่งเคร่งครัดน้อยกว่าการรับประทานมังสวิรัติและไม่มีรูปแบบตายตัว แต่มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก

มีงานวิจัยมากมายชี้ให้เห็นว่าการรับประทาน Plant-based diet ไม่เพียงแต่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง แต่ยังลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ (NCDs) ด้วย ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานประเภทที่สอง เป็นต้น

การลดปริมาณไขมันจากเนื้อสัตว์ ยังช่วยให้การรักษาน้ำหนักตัวทำได้ดีขึ้น และการรับประทานใยอาหารที่เพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกอิ่มท้องยาวนาน มีการศึกษาในผู้สูงอายุ 9,633 คน ตีพิมพ์ในวารสาร Epidemiology ปี ค.ศ. 2019  โดยจัดทำเป็นคะแนนการบริโภคพืชผัก รายงานว่าผู้สูงอายุที่มีคะแนนการบริโภคพืชผักเพิ่มขึ้น ทุก 10 คะแนน จะมีรอบเอวลดลง 2 เซนติเมตร และมีไขมันลดลง 1.1 %

ทำไม \"โรคอ้วน\" จึงเป็นต้นตอ \"โรคมะเร็ง\" นานาชนิด

2. การออกกำลังกายช่วยลดเซลล์มะเร็งในกระแสเลือด

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด เช่น ช่วยควบคุมฮอร์โมนที่มีส่วนในการเกิดมะเร็ง ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เร่งการเคลื่อนผ่านของอาหารในลำไส้ จึงสามารถลดการสัมผัสต่อสารก่อมะเร็งในทางเดินอาหาร และช่วยควบคุมน้ำหนักตัวและป้องกันโรคอ้วน

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ PLoS One ในปี ค.ศ. 2018 แสดงให้เห็นถึงผลดีของการออกกำลังกาย แบบแอโรบิค (Aerobic Exercise) อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ช่วยลดเซลล์มะเร็งในกระแสเลือดของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 1-3 ซึ่งการพบเซลล์มะเร็งในกระแสเลือด แสดงถึงความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

และความเสี่ยงของการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ Journal of Clinical Oncology ปี ค.ศ. 2006 รายงานว่า ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 3 ที่มีกิจกรรมทางกายดี ช่วยลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำได้ถึง 40% และลดการเสียชีวิตได้ 63 %

การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง ต้องอาศัยการดูแลสุขภาพองค์รวม ทั้งเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษ ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy Lifestyle) “เพราะสุขภาพดีคือสมบัติที่สำคัญที่สุด”