เตือนภัย ระวัง "โรคฉี่หนู" ในเด็กช่วงน้ำท่วม 

10 ต.ค. 2567 | 10:40 น.

หมอเด็ก เตือนภัยช่วงน้ำท่วมระวัง "โรคฉี่หนู" ในเด็ก เผยอาการสำคัญพร้อมวิธีรับมือ ย้ำ พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเล่นน้ำขังเสี่ยงติดเชื้อ

ในช่วงฤดูฝนของทุกปีหลาย ๆ พื้นที่มักจะประสบปัญหาอุทกภัยหรือน้ำท่วม ซึ่งอาจจะเกิดจากน้ำป่าไหลหลากหรือไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่อาคารบ้านเรือนเพียงอย่างเดียว ยังก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ หนึ่งในนั้น คือ โรคฉี่หนู 

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในไตและกระเพาะปัสสาวะของสัตว์นำโรคเช่น สุนัข วัว ควาย หนู สุกร ม้า เป็นต้น

เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนทางบาดแผล รอยถลอก หรือผิวหนังที่แช่อยู่ในน้ำนาน ๆ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเฉพาะเด็กที่ลุยน้ำ หรือเล่นน้ำที่ขังเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ผู้ปกครองควรหมั่นดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าว

นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติม ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองตา

เมื่อเป็นมากขึ้นจะพบอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายจะมีอาการไอเป็นเลือด หากมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ไอเป็นเลือดที่รุนแรง การหายใจล้มเหลว หรือไตวาย อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ควรรับประทานยาให้ครบและปฏิบัติตามที่แพทย์สั่ง 

โรคฉี่หนู สามารถป้องกันได้

หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำหรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด ควรสวมรองเท้าบู้ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง

กรณีที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม มีความจำเป็นต้องลงแช่น้ำหรือลุยน้ำให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายทันที เพื่อลดระยะเวลาของการสัมผัสกับเชื้อ หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่รกสกปรกจนเป็นที่อยู่อาศัยของหนู รับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ และดื่มน้ำสะอาดต้มสุก

หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีอาการสงสัยโรคฉี่หนูให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต