25 ธันวาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ระยะที่ 4 ครอบคลุมทั่วประเทศ 1 มกราคม 2568 โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี หน่วยงานราชการ เครือข่ายประชาชน ภาคเอกชนเข้าร่วมกว่า 200 คน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นางสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าว่า วันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ได้เดินทางมาถึงระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายที่ประชาชนอีก 31 จังหวัดจะได้ใช้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไปซึ่งทำได้สำเร็จตามเป้าหมายใน 1 ปีแรก
ใช้เวลาประมาณ 2 ทศวรรษ เปลี่ยนจาก 30 บาทรักษาทุกโรคเมื่อ 22 ปีที่แล้ว มาสู่การเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ในวันนี้ซึ่งเป็นการ Digital Transformation หรือ การเปลี่ยนผ่านระบบสุขภาพสู่ระบบดิจิทัล
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนแล้ว 100% ประชาชนทุกคนมี Health ID ประจำตัว ได้รับบริการรักษาพยาบาลที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวตรวจนานที่โรงพยาบาลอีกต่อไป เราใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการให้บริการแก่ประชาชน เกิดเป็นใบส่งตัวในรูปแบบดิจิทัล การแจ้งเตือนนัดหมอผ่านไลน์ การหาหมอผ่านออนไลน์
การเปิดให้ร้านยาและคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิดูแลประชาชน เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนรับบริการใกล้บ้านตามเวลาราษฎรไม่ใช่เวลาราชการ ผลจากการที่มีทางเลือกใหม่ ๆ พบว่า ทำให้ประชาชนกว่า 80,000 คนที่ไม่เคยใช้สิทธิมาก่อน มาใช้ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ร้านยาและคลินิกเอกชน
อีกทั้งการมีนัดหมายออนไลน์ และใบส่งตัวดิจิทัล ได้ช่วยลดระยะเวลารอคอยของประชาชน เพราะไม่ต้องไปรอคิวแต่เช้า การมีระบบไอทีใน 30 บาทรักษาทุกที่ ผลวิจัยพบว่าทำให้ประชาชนในพื้นที่นำร่องมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่าพื้นที่อื่น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากความสำเร็จของ 30 บาทรักษาทุกที่ในปีแรกแล้ว ในปี 2568 นี้ รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาระบบสาธารณสุข 6 ด้าน พร้อมเพรียงงบประมาณรองรับ ดังนี้
1. ระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุ จัดตั้งสถานชีวาภิบาลทั่วประเทศ
2. สร้าง Care Giver หรือ นักบริบาลผู้สูงอายุ 15,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน โดยจะเน้นกลุ่มที่เป็นนักศึกษาจบใหม่และผู้สูงอายุหลังเกษียณเพื่อให้มีงานทำ
3. เพิ่มความเข้มแข็งการดูแลสุขภาพของประชาชน คัดกรองเร็ว รู้เร็ว รักษาง่าย ปัจจุบันมีชุดตรวจคัดกรองด้วยตนเองที่ประชาชนใช้แค่บัตรประชาชนไปขอรับได้ที่ร้านยา คือ ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูก ชุดตรวจการติดเชื้อเอชไอวี ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในปีนี้จะเพิ่ม ชุดตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ ป้องกันโรคไตเสื่อมจากเบาหวาน
4. การดูแลสุขภาพจิตของคนไทย ด้วยบริการจิตเวชครบวงจรตั้งแต่การป้องกัน รักษา และการให้คำปรึกษาบำบัด ทั้ง ศูนย์ให้ปรึกษาทางจิตเวช และการรับการปรึกษาทางสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชัน
5. การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยติดสารเสพติดกลับสู่สังคม
6. ขับเคลื่อน 50 โรงพยาบาล 50 เขต เพื่อคนกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นที่พึ่ง
ด้านนายสมศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลเพื่อดูแลคนไทยให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว ใกล้บ้าน ด้วยแนวทาง "30 บาทรักษาทุกที่" กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 เริ่มเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ที่ 4 จังหวัด
ระยะที่ 2 เริ่มเมื่อ 1 มีนาคม 2567 เพิ่มเติมอีก 8 จังหวัด
ระยะที่ 3 เริ่มเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ขยายอีก 33 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร
"ที่ผ่านมา 30 บาทรักษาทุกที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ประชาชนมีความพึงพอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้มีทางเลือกในการรับบริการสุขภาพมากขึ้น นอกจากรับบริการตามขั้นตอนเดิมแล้ว ได้ร่วมกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์ เพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรมอีก 7 ประเภทโดยขึ้นทะเบียนในระบบแล้วประมาณ 13,000 แห่ง มีประชาชนรับบริการแล้วกว่า 6 ล้าน 5 แสนคน หรือประมาณ 15 ล้านครั้ง
นอกจากนี้ยังมี 14 บริการนวัตกรรมทางเลือกใหม่ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล หาหมอผ่านแอปพลิเคชัน รถทันตกรรมเคลื่อนที่ คลินิกเวชกรรมเชิงรุก ตู้ห่วงใย เจาะเลือดที่บ้าน รถรับส่งผู้ป่วย เป็นต้น
สำหรับ 31 จังหวัดพร้อมให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ประกอบด้วย
1.ตาก 2.สุโขทัย 3.พิษณุโลก 4.อุตรดิตถ์ 5.ขอนแก่น 6.มหาสารคาม 7.กาฬสินธุ์ 8.มุกดาหาร 9.ยโสธร 10.ศรีษะเกษ
11.อุบลราชธานี 12.สมุทรปราการ 13.ปราจีนบุรี 14.ฉะเชิงเทรา 15.ชลบุรี 16.ระยอง 17.จันทบุรี 18.ตราด 19.กาญจนบุรี 20.สุพรรณบุรี
21.นครปฐม 22.สมุทรสาคร 23.สมุทรสงคราม 24.ราชบุรี 25.ประจวบคีรีขันธ์ 26.ชุมพร 27.ระนอง 28.สุราษฎร์ธานี 29.กระบี่ 30.นครศรีธรรมราช 31.ภูเก็ต
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการแสดงนวัตกรรมการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ เช่น หมอพร้อม กระทรวงสาธารณสุข, Health Link โดยสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กระทรวงดิจิทัลฯ
ระบบ AMED โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ระบบ Dent Cloud ทันตแพทยสภา, Krungthai digital health platform โดยธนาคารกรุงไทย, บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ แอปพลิเคชันทางรัฐ
รวมถึงนวัตกรรม 30 บาทรักษาทุกที่ เช่น ตู้ห่วงใย หรือ หมอตู้ หาหมอออนไลน์ แจกชุดตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง และชุดตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดีด้วยตนเอง เครื่องล้างไตอัตโนมัติ GPO Life และระบบส่งต่อดิจิทัล เป็นต้น