สธ.เร่งถอดบทเรียนน้ำท่วมทั่วปท. พัฒนาแผนรับมือภัยพิบัติในอนาคต

01 พ.ย. 2567 | 16:55 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2567 | 16:55 น.

สาธารณสุข มอบทุกจังหวัดถอดบทเรียนอุทกภัยและพัฒนาแนวทางตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เตรียมพร้อมรับเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมแจ้งปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน จ.เชียงราย หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย

1 พฤศจิกายน 2567 นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 31/2567

ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงไปมากแล้ว เหลือเพียงภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี และนครปฐม ไม่มีผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายเพิ่มเติม รวมถึงไม่มีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 

ล่าสุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย (สสจ.เชียงราย) ได้ปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ แล้ว สรุปผลการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับกระทบจากภัยพิบัติ มีการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์รวม 94,471 รายการ เช่น ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย หน้ากากอนามัย และวัคซีนต่าง ๆ มีการจัดตั้งหน่วยปฐมพยาบาลและทีมแพทย์ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือและเฝ้าระวังโรค พร้อมให้คำแนะนำการฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชนและเจ้าหน้าที่ ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ย้ำให้ทุกจังหวัดที่ประสบเหตุน้ำท่วม มีการถอดบทเรียนเกี่ยวกับการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีอุทกภัย เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สธ.เร่งถอดบทเรียนน้ำท่วมทั่วปท. พัฒนาแผนรับมือภัยพิบัติในอนาคต

สำหรับภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. - ปัจจุบัน พบว่า เกิดเหตุขึ้นรวมทั้งหมด 46 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตสะสม 77 ราย บาดเจ็บสะสม 2,429 ราย สถานพยาบาลได้รับผลกระทบสะสม 110 แห่ง

ปัจจุบันเปิดบริการได้ตามปกติทุกแห่ง จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขสะสม 4,363 ทีม ให้บริการดูแลประชาชนสะสม 245,488 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบางสะสม 38,064 ราย 

ส่วนช่วงวันที่ 2-6 พฤศจิกายน 2567 คาดการณ์ว่า จะมีฝนตกหนัก ส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ภาคใต้ แต่ปริมาณน้ำฝนยังไม่ถึงเกณฑ์ดินถล่ม ได้แจ้งเตือนให้ 11 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก