นายเอกฤทธิ์ ธรรมกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทแบ็คยาร์ด บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโซลูชันเทคโนโลยีด้านเฮลท์เทค กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 สถานพยาบาลหลายแห่งในไทย หันมาให้ความสำคัญกับการมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น รวมถึงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ และความท้าทายด้านภัยไซเบอร์ ทำให้ในระบบสุขภาพไทยเปลี่ยนแปลงไป
ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสุขภาพ มีความจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบและผลิตภัณฑ์ ในการให้บริการที่ตอบโจทย์กับสถานพยาบาลและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพ ไม่ใช่เฉพาะไทยแต่เป็นในภูมิภาคอาเซียนที่มีปัญหาร่วมกัน คือ เรื่องการขาดบุคลากรทางการแพทย์ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ซึ่งสามารถพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตและการขยายการให้บริการได้อีกมาก
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทแบ็คยาร์ดได้เล็งเห็นความสำคัญ ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ สร้างระบบตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย ทั้งมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงที่ระบบสุขภาพของไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และพร้อมเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนวงการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยโซลูชันที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ไม่ว่าจะเป็น MEDHIS ระบบบริหารจัดการโรงพยาบาล, MEDConnext เพิ่มความปลอดภัยให้ฐานข้อมูลทางการแพทย์, FLOWARD แพลตฟอร์มช่วยให้องค์กรปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล และ Odoo ERP ระบบบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ในไทยในปี 2567 ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูง
ในปี 2567 อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ในไทย มีทิศทางชัดเจนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและขยายบริการสุขภาพ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น สะท้อนจากแนวโน้มการเติบโตที่สำคัญอยู่ 4 ด้าน คือ
1.การให้บริการด้านสุขภาพออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากสถิติพบการใช้บริการโทรเวชกรรมทางไกล (Telemedicine) โดยภาพรวมเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2023 โรงพยาบาลนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วยลดความจำเป็นในการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลและเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน
2.ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ สัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะคิดเป็น 1 ใน 5 หรือประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ความต้องการบริการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ และการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงสิทธิการรักษาต่างๆ ที่จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสูงมาก
3.การขยายตัวของบริการของสถานพยาบาลเอกชน เติบโตร้อยละ 15% ทั้งจากผู้รับบริการในประเทศและต่างประเทศ คาดการณ์ปี 2567 สร้างรายได้ 3.22 แสนล้านบาท นำมาสู่การลงทุนทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการแพทย์ และเพิ่มศักยภาพการรักษาทางการแพทย์โรคยากซับซ้อน นำมาสู่การขยายศักยภาพในการรองรับรวมถึงการดูแลโรคยากซับซ้อนร่วมกับภาครัฐในสิทธิการรักษาของกองทุนดูแลสุขภาพต่างๆ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการเข้าถึงของประชาชนในการรับบริการมากยิ่งขึ้น
4.สถานการณ์ขาดแคลนแพทย์ (โดยเฉพาะในภาครัฐ) คิดเป็นร้อยละ 25 ทำให้สถานพยาบาลนำเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพการให้บริการ รวมถึงการบริหารจัดการภายในสถานพยาบาลให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่สถานการณ์การขาดแคลนแพทย์ยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญ โดยเฉพาะในสถานพยาบาลภาครัฐ