โอลิมปิก-เฮลท์แคร์ ปลุกตลาด “สปอร์ต รีเทล” บูม

05 ต.ค. 2567 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2567 | 11:41 น.

Sport Never Die จับตาตลาดสปอร์ตรีเทลคึกคัก อานิสงส์ “โอลิมปิก- เฮลท์แคร์” แรง “ซูเปอร์สปอร์ต” สปีดขยายสาขา รับเทรนด์คนรุ่นใหม่ หันเลือก Performance Sports

ตลาดอุปกรณ์กีฬาในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพและการออกกำลังกายมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าประเภทนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ารองเท้าวิ่ง เสื้อผ้ากีฬา และอุปกรณ์ฟิตเนสต่าง ๆ

โอลิมปิก-เฮลท์แคร์ ปลุกตลาด “สปอร์ต รีเทล” บูม โอลิมปิก-เฮลท์แคร์ ปลุกตลาด “สปอร์ต รีเทล” บูม

หากเจาะลึกลงไปที่ “ร้านค้าปลีกอุปกรณ์กีฬา” ซูเปอร์สปอร์ต ยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกกีฬาของไทย เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ตลาดรวมอุปกรณ์กีฬาทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยตลาดรองเท้าวิ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้กับซูเปอร์สปอร์ตสูงถึง 25-30% ของรายได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ กระแสของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้ากีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทแบดมินตัน ซึ่งซูเปอร์สปอร์ตสามารถทำยอดขายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ดี ร้านค้าปลีกกีฬาคึกคักขึ้นเมื่อแบรนด์ชั้นนำต่างเร่งขยายการให้บริการ รวมทั้ง่การที่ ”ซูเปอร์สปอร์ต” เข้าซื้อหุ้นเรฟ อีดิชั่น พร้อมลงทุนต่อเนื่อง หนึ่งในสัญญาณที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุสาหกรรมอุปกรณ์กีฬา ซูเปอร์สปอร์ตตัดสินใจขยายธุรกิจตลอดช่วงปี 2566-2567 ทั้งการเปิดสาขาใหม่ รีโนเวตสาขาเดิม รวมถึงเปิดโมเดลใหม่

โดยในช่วงปี 2566-2567 มีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 8 สาขา พร้อมกับรีโนเวตสาขาเดิมจำนวน 10 สาขา รวมถึงจะมีสาขาโฉมใหม่ในชื่อ Supersport 2.0 ซึ่งเตรียมเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้ เริ่มด้วยสาขาเซ็นทรัล เวสต์วิลล์ และหาดใหญ่ มีแผนเปิดร้านเฉลี่ยปีละ 1-2 สาขา จากปัจจุบันมีเครือข่ายร้านค้ารวม 93 สาขา ส่วนร้านแบบโมโนช้อป หรือแบรนด์ช้อป ก็มีแผนเพิ่มอีก เช่น ร้านรีบอค ร้านสปีโด พร้อมกับมีแผนขยายสาขาใหม่อีก 5-10 สาขาในปีหน้า

โอลิมปิก-เฮลท์แคร์ ปลุกตลาด “สปอร์ต รีเทล” บูม

ผู้เล่นหลักในตลาดค้าปลีกอุปกรณ์กีฬาในบ้าน นอกจาก ซูเปอร์สปอร์ต ยังมี “สปอร์ตมอลล์” เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นรายสำคัญในตลาด มีจุดเด่นที่สินค้าหลากหลาย และมักจะจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอยู่เสมอ

โดยพบว่า สปอร์ตมอลล์ มุ่งสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ทำตัวเองให้แข็งแรง เตรียมพร้อมในการบุกตลาดทั้งภายในและภายนอกศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ที่เรียกว่า ร้านค้าปลีกกีฬาแบบสแตนด์อะโลน เจาะพื้นที่ศักยภาพเพื่อรองรับโอกาสทางการตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่มองหาประสบการณ์ใหม่ ท่ามกลางคู่แข่ง หรือทางเลือกมากมายในตลาด

ยิ่งเวลานี้กระแสสุขภาพและไลฟ์สไตล์แรง การใช้ชีวิตประจำวันส่งผลดีต่อตลาดค้าปลีกกีฬาที่เป็นดาวรุ่งไปได้อีกยาวไกล แบบชนิดที่ว่า Sport Never Die หลายแบรนด์กีฬาชั้นนำ เช่น Nike, Adidas, Puma ได้เปิดร้านค้าปลีกของตัวเอง เพื่อควบคุมช่องทางการจัดจำหน่ายและสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน เทรนด์กีฬายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขยายกลุ่มผู้สนใจไปสู่วงกว้าง และมีแนวโน้มไปในทิศทางของการเพิ่มศักยภาพร่างกายให้แข็งแกร่ง มีพฤติกรรมของลูกค้าที่มีแนวโน้มในการจับจ่ายสินค้ากีฬาแนว Performance Sports เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยการใช้จ่ายต่อครั้งสูงขึ้นประมาณ 15% เทียบจากปี 2566 ซึ่งอ้างอิงจากฐานข้อมูลสมาชิกของ REV RUNNR ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 3.3 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,033 วันที่ 6 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567