25 กันยายน 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้บรรยายในหัวข้อ Creating a Journey for Healthy Citizen through Digital Health ในงานงานสัมมนาวิชาการและการแสดงนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี จัดโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ร่วมกับสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย (DUGA)
นพ.โอภาส กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญด้านสาธารณสุข คือ "30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ซึ่งเป็นการปรับระบบการดูแลสุขภาพครั้งสำคัญ โดยได้พัฒนาระบบเป็น Digital Health Platform มีการปรับระบบบันทึกข้อมูลในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นดิจิทัลแล้วเกือบ 100%
พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในการจัดบริการประชาชน ทำให้ช่วยลดระยะเวลาอยู่ในโรงพยาบาลลงได้ถึง 30-40%
สำหรับแนวทางในการพัฒนาระบบ Digital Health ที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงจะให้ความสำคัญกับ 5 high ได้แก่ High Technology ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม High Impact สร้างผลกระทบได้มาก High Performance นำไปปฏิบัติการได้ง่าย High Speed ทำงานได้รวดเร็ว และ High Trust ประชาชนมีความเชื่อมั่น
พร้อมกันนี้ได้วางแผนการพัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบด้วย อาทิ การจัดตั้งหน่วยปัญญาประดิษฐ์ (AI Unit) การลงทุนในด้านความปลอดภัยไซเบอร์ซึ่งทั้งหมดมีการดำเนินการภายใต้หลักธรรมาภิบาล
สำหรับความท้าทายทางสาธารณสุขสำคัญที่ประเทศไทยต้องเผชิญ เช่น การเป็นสังคมสูงอายุ ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักของประชากร และเป็นประเด็นที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้ความสำคัญอย่างมาก
กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งดำเนินการให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน โดยมีข้อมูลข่าวสารเป็นตัวกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งตัวช่วยสำคัญคือเทคโนโลยีดิจิทัล จึงต้องผลักดันให้ระบบดิจิทัลสามารถเข้าถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนอย่างครอบคลุม นพ.โอภาสกล่าว