สาธารณสุข ถกเข้มรับมือ "น้ำท่วม" วางมาตรการ 3 ระยะ

19 ก.ย. 2567 | 05:00 น.

ปลัดสธ.สั่งการประชุมติดตามสถานการณ์รับมือ "น้ำท่วม" ทุกวัน เน้นดูแลช่วยเหลือ ปชช. รวดเร็ว ด้านผู้ตรวจราชการฯ เขตสุขภาพที่ 8 ถกเข้มวางมาตรการ 3 ขั้นรองรับ กลุ่มจังหวัดคลี่คลาย-ยังมีสถานการณ์-จังหวัดเสี่ยงรอรับน้ำ

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 เป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำในที่ประชุมว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่มเป็นวาระสำคัญที่ทุกหน่วยงานรัฐต้องร่วมกันบูรณาการดูแลและช่วยเหลือประชาชน ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้มีมติเห็นชอบวันนี้ให้แต่งตั้งคณะทำงาน ศปช. มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

มีผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม เพื่อประมวลข้อมูล บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม ให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ เชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศ ทรัพยากรน้ำ และคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ประสานช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมวางแผนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน และรายงานผลต่อ ศปช. โดยให้ทุกหน่วยงานเข้าช่วยเหลือตามบทบาทหน้าที่อย่างรวดเร็ว

นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลสุขภาพประชาชน มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) กรณีวาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่มทุกวัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 8 – 18 กันยายน 2567 ยังมีสถานการณ์ใน 9 จังหวัด ได้แก่

1.เชียงราย 4 อำเภอ 2.หนองคาย 7 อำเภอ 3.เลย 4 อำเภอ 4.บึงกาฬ 5 อำเภอ 5.นครพนม 5 อำเภอ 6.อุดรธานี 7 อำเภอ 7.ภูเก็ต 2 อำเภอ 8.สตูล 5 อำเภอ และ 9.ตรัง 4 อำเภอ

มีผู้บาดเจ็บสะสม 462 ราย เสียชีวิตสะสม 19 ราย สาเหตุจากดินถล่ม พลัดตกน้ำ/จมน้ำ และถูกน้ำพัดพา จัดตั้งศูนย์พักพิงรวม 60 แห่ง เปิดให้บริการ 57 แห่ง ปิดบริการได้แล้ว 3 แห่ง

สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 25 แห่ง ได้แก่ สาธารณสุขอำเภอ 3 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง และ รพ.สต. 19 แห่ง แต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติทั้งหมด

ส่วนการดูแลให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน ได้ออกเยี่ยมบ้าน ให้สุขศึกษา ตรวจรักษา ส่งต่อ และมอบชุดดูแลสิ่งแวดล้อม รวม 18,080 ราย ด้านสุขภาพจิตให้บริการ 24,285 ราย พบมีภาวะความเครียด 642 ราย ส่งพบแพทย์ดูแลต่อ 133 ราย โรคที่พบมากสุดคือ น้ำกัดเท้า รองลงมาเป็น ปวด/เวียนศีรษะ ระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน และระบบทางเดินอาหาร

ทั้งนี้ มีการจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขรวม 941 ทีม ให้การดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 46,420 ราย ได้แก่ ติดบ้านติดเตียง 1,287 ราย ผู้พิการ 5,236 ราย หญิงตั้งครรภ์ 180 ราย  ผู้สูงอายุ 34,184 ราย และอื่นๆ (ผู้ป่วยฟอกไต จิตเวช) 5,533 ราย พร้อมสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ ได้แก่ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ยาน้ำกัดเท้า ยาสามัญประจำบ้าน ยากันยุง และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ รวม 55,502 ชุด

จากการคาดการณ์สถานการณ์ได้วางมาตรการรองรับเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1.จังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

เชียงราย ให้เฝ้าระวังโรคระบาดจากน้ำท่วมและออกคำแนะนำประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น ทีมกู้ชีพ/กู้ภัย ตรวจสอบน้ำกินน้ำใช้ของประชาชน

2.จังหวัดที่ยังมีสถานการณ์

ให้ดูแลประชาชนในชุมชนและศูนย์พักพิง วางระบบป้องกันโรคระบาดในศูนย์พักพิง ป้องกันสถานบริการไม่ให้ได้รับผลกระทบ และประเมินความต้องการสิ่งสนับสนุน

3.จังหวัดที่รอรับน้ำต่อไปหรือมีความเสี่ยง 

กลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ มุกดาหาร นครพนม อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และกลุ่มรับผลกระทบจากพายุดีเปรสชัน ทั้งภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันออก

ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประเมินความเสี่ยงสถานบริการ สำรวจกลุ่มเปราะบาง เตรียมแผนการเคลื่อนย้ายไปที่ปลอดภัย และเตรียมความพร้อมยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ