"สมศักดิ์" แบ่งงาน "เดชอิศม์" รมช.สาธารณสุข ดูแล 7 หน่วยงาน

16 ก.ย. 2567 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2567 | 16:22 น.

"สมศักดิ์" มอบหมายงาน "เดชอิศม์ ขาวทอง" รมช.สาธารณสุข ป้ายแดง ดูแล 7 หน่วยงาน พร้อมสั่งรายงานผลทุก 30 วัน เว้นแต่กรณีเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีมติแต่งตั้ง นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนใหม่โดยได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุด 16 กันยายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในคำสั่ง กระทรวงสาธารณสุข ที่ 1490/2567 เรื่อง มอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 

1.มอบอำนาจในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือ มติครม. ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในงานราชการของ กรม ส่วนราชการ หน่วยงานและองค์การมหาชน ในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

  • กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
  • กรมอนามัย
  • สถาบันพระบรมราชชนก 
  • สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 
  • สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล 
  • โรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน)
  • สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 

ทั้งนี้ ยกเว้นกรณีการนำเสนอรายชื่อบุคคล หรือคณะกรรมการใด เพื่อเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาหรือให้ความเห็นชอบในเรื่องตามที่กฎหมายของส่วนราชการนั้นๆ บัญญัติให้ต้องดำเนินการเพิ่มเสนอครม. 

2.มอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการด้านรัฐสภาเกี่ยวกับการตอบกระทู้ถาม ญัตติ การชี้แจงร่างพ.ร.บ. และการปฏิบัติราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขหรือที่ได้รับมอบหมาย

3.มอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการพิจารณาดำเนินการด้านคดี อาทิ มอบอำนาจในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ การดำเนินคดีแพ่ง อาญา และล้มละลาย การแต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องคดีหรือแก้ต่างคดี

ตลอดจนดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ ศาล และการบังคับคดีแล้วแต่กรณีจนเสร็จการ, ดำเนินการด้านคดีปกครองในนามกระทรวงสาธารณสุขและในฐานะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ให้ผู้ดำเนินการฟ้องคดีหรือในการดำเนินคดีปกครองหรือดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลปกครองดังกล่าว ดำเนินการตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกขั้นตอนจนเสร็จการ

ทั้งในศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด และให้รวมถึงการจำหน่ายสิทธิ การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ และการสละข้อต่อสู้ การสละสิทธิ หรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือการขอให้พิจารณาคดีใหม่ในนามกระทรวงสาธารณสุข การบังคับคดี การรับเงินใด ๆ ทั้งในศาลหรือจากการบังคับคดีด้วย

4. มอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับด้านการบริหารบริหารในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งหรือคำสั่งทางปกครองที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์และตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

5. การมอบอำนาจตามคำสั่งนี้ ไม่ครอบคลุมถึงกรณีดังต่อไปนี้

5.1 เรื่องที่เป็นนโยบาย

5.2 เรื่องที่กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น

5.3 เรื่องที่ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้

5.4 เรื่องที่กำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะ

5.5 เรื่องที่เป็นการเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี

5.6 พิจารณาสั่งการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ และขอความเป็นธรรม

6. การมอบอำนาจตามคำสั่งนี้ไม่เป็นการตัดอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่จะสั่งการใด ๆ ด้วยตนเองตามอำนาจหน้าที่กำหนดไว้ในกฎหมายทุกฉบับ  

7.เมื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ปฏิบัติราชการที่ได้รับมอบอำนาจตามคำสั่งนี้ไปแล้ว ให้ทำบัญชีสรุปสาระสำคัญนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทราบทุก 30 วัน ยกเว้นกรณีเป็นเรื่องเร่งด่วนให้รายงานทันที ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป