สัญญาณเตือน "โรคกระดูก" คุณแม่หลังคลอดกับอาการปวดหลัง

20 ส.ค. 2567 | 12:11 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2567 | 14:16 น.

แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเตือน "คุณแม่หลังคลอด" อาจต้องเผชิญกับอาการปวดหลัง อย่าชะล่าใจ! เพราะเป็นสัญญาณเตือน "โรคกระดูกสันหลัง"

นพ.ชุมพล คคนานต์ แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ กล่าวว่า จากการตั้งครรภ์ทำให้โครงสร้างร่างกายคุณแม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อแบกรับน้ำหนักของทารกที่เพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์ และถ้าหากไม่ดูแลตัวเองในช่วงหลังคลอดอย่างถูกวิธี ก็อาจทำให้คุณแม่ฟื้นตัวได้ช้าและมีอาการปวดหลังรุนแรงมากขึ้น จนโครงสร้างกระดูกผิดปกติ หมอนรองกระดูกมีปัญหา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาจอันตรายถึงขั้นพิการได้ 

โดยปกติแล้วในช่วงหลังคลอดร่างกายจะปรับสู่สภาพปกติได้ใน 1-2 เดือน แต่หากไม่ระวังอิริยาบถ คือมีลักษณะท่าทางการอุ้มลูกที่ผิด หรือท่าทางในการให้นมที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้คุณแม่ปวดคอ และปวดกล้ามเนื้อหลัง เพราะอาการปวดมันเกิดจากการที่กระดูกสันหลังทำงานหนักมากเกินไป ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อม ปวดหลังจากน้ำหนักเยอะ โดยเฉพาะคนที่มีลูกแฝดก็จะมีความเสี่ยงเกิดหมอนเสื่อมได้มาก

สำหรับอาการปวดหลังช่วงหลังคลอด ในบางรายส่วนใหญ่จะหายไปเอง เพราะพอน้ำหนักลงก็จะทำให้อาการปวดมักจะดีขึ้น แต่ในรายที่มีหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือปลิ้นตอนช่วงที่ท้องอาจจะมีอาการหลงเหลืออยู่ เมื่อไหร่ก็ตามไปอุ้มลูกเยอะ เดินเยอะ ยกของหนัก ก็จะมีอาการปวดหลังร้าวลงขา หรือมีอาการชาที่น่องหรือปลายนิ้วเท้า

สัญญาณเตือน \"โรคกระดูก\" คุณแม่หลังคลอดกับอาการปวดหลัง คุณแม่ควรสังเกตอาการตัวเอง

  1. ถ้าอุ้มลูกแล้วมีอาการปวดหลัง 
  2. ถ้าอุ้มลูกแล้วมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาชัดเจน ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุ

ท่าอุ้มลูกลดความเสี่ยง โรคกระดูกสันหลัง

  1. เวลาต้องอุ้มลูกก็คือต้องหลังตรงคุกเข่า ย่อเข่าลง อุ้มลูกขึ้นมาก่อนแล้วก็ค่อยยืนขึ้นแบบหลังตรง อันนี้คือจะใช้กล้ามเนื้อต้นขาจากสะโพกแขนหลัง
  2. ในระยะยาวจะต้องเสริมกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง เพราะแน่นอนน้ำหนักของลูกต้องโตขึ้นทุกวัน ทำให้น้ำหนักลูกเพิ่มขึ้นทุกวัน 

นพ.ชุมพล กล่าวว่า จะต้องเสริมกล้ามเนื้อหลังด้วยการออกกำลังกาย ส่วนกีฬาที่ดีที่สุดคือการว่ายน้ำ หรือถ้าไม่สะดวกว่ายน้ำ อาจจะต้องมีท่ากายบริหารทุกวันเพื่อให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง และใช้งานได้โดยมีอาการปวด หากมีความกังวลเรื่องอาการปวดหลัง ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางและโรงพยาบาลที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้การรักษาลุล่วงไปด้วยดีและปลอดภัย

"ยกตัวอย่างเคสคุณแม่ที่มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ความปวดอยู่ระดับ 9-10 เมื่อมาตรวจที่โรงพยาบาล ทำการ x-ray ร่วมกับการทำ MRI จึงพบว่าสาเหตุของอาการปวดเกิดจากที่มีหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทเยอะพอสมควร จึงตัดสินใจผ่าตัดเพราะไม่อยากกลับไปกินยา กายภาพ และไม่หายสักที  ซึ่งก่อนหน้านี้ซื้อยากินเองที่คลินิกใกล้บ้าน พอรักษาเสร็จอาการปวดสะโพกร้าวลงขาก็หาย"