เฝ้าระวัง "โควิด 19-เชื้อ RSV-ไข้หวัดใหญ่" ระบาดช่วงหน้าฝน 

16 ส.ค. 2567 | 17:00 น.

กรมควบคุมโรค ยังคงเฝ้าระวัง 3 โรคร้ายช่วงหน้าฝน พร้อมเปิดตัวเลขผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิตจาก "โควิด-19-ไข้หวัดใหญ่- เชื้อ RSV" แนะ 6 วิธีป้องกันตัวเองและครอบครัวจากภัยร้ายนี้ได้

แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าว "สิงหาเรารักกัน สานพลังป้องกันโรค" โดยแนะนำวิธีรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงหน้าฝนนี้

โควิด 19 : แนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง

สายพันธุ์ที่พบระบาดมากที่สุด คือ สายพันธุ์ JN.1, KP.2 และ KP.3 จากข้อมูลวันที่ 7 มกราคม - 3 สิงหาคม 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 36,141 ราย ปอดอักเสบ 447 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 184 ราย และเสียชีวิต 194 ราย

สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 560 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว

ไข้หวัดใหญ่ : แนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง

สายพันธุ์ที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ A (H1N1) ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม - 26 กรกฎาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสม 316,123 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน

พบผู้เสียชีวิต 27 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีน เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรงรีบเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน

โรคติดเชื้อไวรัส RSV : พบการระบาดสูง

ในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ข้อมูลวันที่ 1 กันยายน 2564  - 3 สิงหาคม 2567 มีผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อไวรัส RSV 1,240 ราย พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และพบผู้เสียชีวิต 3 ราย กลุ่มเสี่ยงยังคงเป็นเด็กเล็ก และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว 

จากการระบาดของเชื้อระบบทางเดินหายใจดังกล่าว ในช่วงฤดูฝน ขอเน้นย้ำให้ประชาชน ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมเฝ้าระวังและตระหนักในใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด

แนวทางการป้องกันสำหรับประชาชน

1.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ 

2.เลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสจมูก ปาก หรือตา 

3.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม 

4.หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย 

5.เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ

6.หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย 

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

1.หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน งดเข้ากิจกรรม สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ 

2.ดื่มน้ำมาก ๆ

3.หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว 

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวยังสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ด้วย