ไฟเขียวยุทธศาสตร์ 10 ปี ปั้นไทยสู่ "Medical Hub" บุกตลาด GCC – CLMV – จีน

25 ก.ค. 2567 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2567 | 14:48 น.

ไฟเขียวยุทธศาสตร์ 10 ปี เดินหน้าไทยสู่ Medical Hub ทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาระบบนิเวศ อุตฯการแพทย์ เร่งส่งเสริมการตลาดและสร้างการรับรู้ พร้อมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน ปูพรมรุกตลาด GCC – CLMV - จีน ยกระดับการแพทย์แผนไทย สร้างเศรษฐกิจสุขภาพ

KEY

POINTS

  • บอร์ด Medical Hub ลุยปั้นไทยเป็น "ศูนย์กลางบริการสุขภาพ"  4 ด้าน 
  • มุ่งขยายตลาดกลุ่มประเทศ GCC, CLMV และจีน ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยและพัฒนาอุตสาหกรรมเวชกรรมความงาม
  • ตั้งเป้าจะสร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจ คาดมูลค่าทางเศรษฐกิจของสมุนไพรและแพทย์แผนไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.04 แสนล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า

การเดินหน้ายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น "Medical Hub" เริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น เมื่อที่ประชุม​ "คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ" หรือ​ บอร์ด​ Medical​ Hub ซึ่งมี​นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั่งเป็นประธานการประชุมฯ​ นัดแรก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ.2568 - 2577 ตั้งเป้าให้ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางสุขภาพโลก เป็นศูนย์กลางให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงการเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของโลก

โดยเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub), ศูนย์กลางการรักษาพยาบาล (Service Hub), ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

สาระสำคัญของการเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ เป็นการทบทวนยุทธศาสตร์เดิมที่มีอยู่ 7 ข้อให้เหลือเพียง​ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ​ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล​ซึ่งจะได้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ ต่อไป ประกอบไปด้วย

1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

2.การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

3.การส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์

"เรื่องของ Medical Hub นั้น​ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดมาเพราะมีความสนใจเป็นอย่างมาก มองว่าจะเป็นการหารายได้เข้าประเทศได้ทางหนึ่ง ในวันนี้ผมจึงขอให้กรรมการ และอนุกรรมการ ช่วยกันขับเคลื่อนงานอย่างเร่งด่วนด้วย" นายสมศักดิ์​ รมว.สาธารณสุข กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบประเด็นต่าง​ ๆ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเพื่อนำเสนอที่ประชุมในครั้งต่อไป ได้แก่ การแก้ไขกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้มีหน่วยงานตามโครงสร้างในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ, การจัดทำข้อเสนอปรับปรุงแผนการจัดสรรงบประมาณรองรับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

ไฟเขียวยุทธศาสตร์ 10 ปี ปั้นไทยสู่ \"Medical Hub\" บุกตลาด GCC – CLMV – จีน

การเจรจากองทุนแห่งรัฐและประกันชีวิตเอกชนในต่างประเทศเพื่อส่งผู้ป่วยมารับการรักษาในประเทศไทย ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน และกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงจีน

การจัดทำมาตรการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในกิจการนวดไทยและสปา, การบริโภคทั้งในและต่างประเทศซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 1,676.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3%) และมีอัตราการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย 4.3%, การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเฉพาะที่มีมูลค่าสูง (Medical & Wellness Valley) ของประเทศไทย เพื่อรองรับนักลงทุนชาวต่างชาติ

ไฟเขียวยุทธศาสตร์ 10 ปี ปั้นไทยสู่ \"Medical Hub\" บุกตลาด GCC – CLMV – จีน

การจัดทำแนวทางขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการจัดประชุมและนิทรรศการด้านการแพทย์และสุขภาพ, การศึกษาความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเวชกรรรมความงามของประเทศไทย โดยคาดว่า​ ในปี 2570 ตลาดเสริมความงามของไทยจะมีมูลค่าถึง 7.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.48 แสนล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 16.6% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า

ด้วยจุดเด่น คือ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้าง มีเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการบริการที่หลากหลายและอัตราค่าบริการสมเหตุสมผล รวมไปถึงการจัดทำเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ (Thailand Wellness Awards : TiWA) เพื่อยกระดับสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้เป็น Branding เดียวทั้งประเทศ

ไฟเขียวยุทธศาสตร์ 10 ปี ปั้นไทยสู่ \"Medical Hub\" บุกตลาด GCC – CLMV – จีน รวมถึงเห็นชอบ​ "คณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนานาชาติ" จำนวน​ 6 คณะ ได้แก่ 1.บริการรักษาพยาบาล 2.บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 3.ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ 4.บริการวิชาการ 5.การจัดประชุมและนิทรรศการด้านการแพทย์และสุขภาพ และ6.การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

พร้อมคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ 1.คณะทำงานส่งเสริมเวชกรรมความงามและชะลอวัยของประเทศไทย และ​ 2.คณะทำงานเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ

หากย้อนกลับไปแนวคิดการดำเนินการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาตินั้น​ ไม่ใช่เรื่องใหม่​ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และมาเป็นรูปร่างในปี 2557 ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พ.ศ.2559-2568

กระทั่งรัฐบาลนี้นำมาปัดฝุ่นเพื่อพลิกฟื้นใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเห็นจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ บนพื้นฐานของความแข็งแกร่งด้านระบบสาธารณสุขของไทย ตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND

ไฟเขียวยุทธศาสตร์ 10 ปี ปั้นไทยสู่ \"Medical Hub\" บุกตลาด GCC – CLMV – จีน

การส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนไทยเพราะการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนั้น​ ไม่ได้จบเพียงแค่การให้บริการผู้ป่วยที่เป็นไข้ด้วยการฉีดยาเพียงแค่​ 2-3​ เข็ม​หายแล้วก็จบไป​ ไม่กลับมาอีก แต่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพ จะต้องครอบคลุมถึงการให้บริการอื่น​ ๆ​ ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม​

ทั้งเรื่องของสุขภาพกายและสุขภาพใจ​ เช่น ให้บริการเรื่องของการนวด การเข้าสปา การใช้สมุนไพรไทย​ ที่ดูแลก่อนเกิดการเจ็บป่วย​ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้ามาใช้บริการเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้กับคนไทย​ ผู้ประกอบการและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น​ ๆ​ ได้อีกด้วย

รมว.สาธารณสุข ยังระบุอีกว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งรัดขับเคลื่อนให้เดินหน้าเป็นรูปธรรม คือ เรื่องของ เศรษฐกิจสุขภาพ ตามนโยบาย Ignite Thailand ของนายเศรษฐา นายกฯ ที่จะส่งเสริมให้ไทยกลายเป็น "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ" พร้อมทั้งยกระดับการแพทย์แผนไทย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสุขภาพ

จากข้อมูล Global Wellness Institute ได้ประมาณการมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยไว้กว่า 1.2 ล้านล้านบาทเฉพาะค่ารักษาพยาบาลชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาในไทย มีมูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านบาท

ขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของสมุนไพรและแพทย์แผนไทยในปัจจุบัน มีหมุนเวียนกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท  คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.04 แสนล้านบาทในปี 2570 ขณะที่มูลค่าของสมุนไพรในตลาดโลกสูงจะถึง 1.7 ล้านล้านบาท

ไฟเขียวยุทธศาสตร์ 10 ปี ปั้นไทยสู่ \"Medical Hub\" บุกตลาด GCC – CLMV – จีน