23 กรกฎาคม 2567 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอย่างต่อเนื่องโดยขอความร่วมมือจากทุกโรงพยาบาลให้เก็บและส่งตัวอย่างผู้มารับบริการที่ผลตรวจเบื้องต้นเป็นผลบวก จำนวน 5-10 ตัวอย่างต่อสัปดาห์
สำหรับส่วนกลางนำส่งที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และส่วนภูมิภาคนำส่งผ่านศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้การดำเนินงานเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 สามารถแสดงสัดส่วนสายพันธุ์กลายพันธุ์ระดับประเทศ และตรวจจับสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สถานการณ์สายพันธุ์โควิด 19 ทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลางจีเสด (GISAID) ณ ปัจจุบัน พบสายพันธุ์ JN.1* มากที่สุด ในสัดส่วน 47.1% มีอัตราการพบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ KP.2* และ KP.3* พบสัดส่วน 22.7% และ 22.4% ตามลำดับ ซึ่งมีอัตราการพบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทั้งสองสายพันธุ์นี้ เป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นกลุ่มที่ต้องจับตามอง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา
สำหรับประเทศไทย สายพันธุ์ JN.1* มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด ณ ปัจจุบัน สายพันธุ์ JN.1* เป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ BA.2.86 ซึ่งกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนส่วนหนามตำแหน่ง L455S และ F456L ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญ
ทั่วโลกมีรายงานพบสายพันธุ์ JN.1* จำนวน 181,628 ราย จาก 115 ประเทศ (อ้างอิงข้อมูล CoV-spectrum ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567) ในขณะที่ประเทศไทยพบสายพันธุ์ JN.1* จำนวนทั้งหมด 716 ราย คิดเป็นสัดส่วนสะสม 41.10% ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่พบในประเทศไทย นับตั้งแต่การพบครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ถึง ปัจจุบัน (อ้างอิงจากฐานข้อมูล GISAID)
นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จากห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ในรอบ 30 วัน ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม - 26 มิถุนายน 2567 จำนวน 182 ราย พบสายพันธุ์ JN.1* จำนวน 110 ราย คิดเป็นสัดส่วน 60.4% สายพันธุ์ KP.2* และ KP.3* (สายพันธุ์ย่อย JN.1.11.1*) จำนวน 37 ราย และ 22 ราย คิดเป็นสัดส่วน 20.3% และ 12.1% ตามลำดับ และพบสายพันธุ์ JN.1.7* และ JN.1.18* จำนวนสายพันธุ์ละ 2 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1.1%
นอกจากนี้ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการในรอบ 6 เดือน (เดือนมกราคม - มิถุนายน 2567) แสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์ JN.1* เป็นสายพันธุ์หลัก โดยสายพันธุ์ KP* (KP.1*, KP.2*, KP.3*, KP.4* และ KP.5*) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ JN.1 ที่ต้องจับตามอง พบในสัดส่วนน้อยกว่า 10%
สำหรับสายพันธุ์ EG.5* ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1.9.2* พบสัดส่วนลดลง อย่างต่อเนื่อง กระทั่งเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน ไม่พบสายพันธุ์ EG.5*
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยการรวบรวมตัวอย่างผลบวกเชื้อก่อโรคโควิด 19 จากการทดสอบ ATK หรือ Real time RT-PCR จากทั่วประเทศ
ทดสอบด้วยเทคนิค Real-time RT-PCR เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด 19 (เฉพาะกรณีที่ยังไม่มีผลการทดสอบ Real-time RT-PCR) ถอดรหัสจีโนมทั้งตัว และเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ
การเฝ้าระวังติดตามสายพันธุ์ ที่ระบาดในประเทศอย่างเป็นปัจจุบัน ช่วยส่งเสริมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการรับมือกับการระบาดในอนาคต นพ.ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย