"กัญชา" ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ต้องติดตามต่อเนื่องล่าสุดปรากฎภาพกลุ่มนักวิชาการ นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและระบบประสาทในฐานะที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก และนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
หนึ่งในข้อเรียกร้องที่ได้รับความสนใจจากสังคม คือ คัดค้านกรณีที่รัฐบาลประกาศดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติดประเภท 5 โดยได้เสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ให้ "กัญชา" เป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไข
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เชื่อมั่นว่า ร่างประกาศกระทรวงฉบับนี้จะทำให้ผู้ที่ใช้ กัญชา กัญชง อย่างถูกต้องอยู่เดิม สามารถใช้ได้อย่างถูกกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า มีการล็อกสเปกให้กับกลุ่มทุนใหญ่ตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำ มีการกีดกันแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน รวมถึงแพทย์แผนปัจจุบันไม่ให้จ่ายสารสกัดกัญชา รวมถึงกัญชงได้เนื่องจากใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ มาตรา 40 ระบุว่า จะต้องมีเภสัชกรดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต
ต่างจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 และ 8 ที่เปิดช่องให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน รวมถึงแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้
ดังนั้น ผู้ที่จะทำได้จะต้องเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลเอกชน ฟาร์มปิดขนาดใหญ่ กลุ่มทุน เนื่องจากค่าจ้างเภสัชกรสูงระดับหลักแสนบาทต่อเดือน จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการล็อกสเปคให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่หรือไม่ อีกทั้งในร่างประกาศของกระทรวงสาธารณสุขยังไม่กำหนดว่า ห้ามนำเข้าสารสกัดกัญชากัญชง แสดงว่ามีอะไรหรือไม่
"...นี่คือการล็อกเปกกลุ่มทุนผูกขาดทางการแพทย์ไม่กี่รายใช่หรือไม่..." นายปานเทพ กล่าวตั้งข้อสังเกต
สำหรับข้อเสนอร่างกัญชามีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้สารสกัดจากกัญชาที่ปลูกภายในประเทศ เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดที่ไม่ใช่สารสกัดตาม (ก) และ (ข) ซึ่งมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol,THC) ไม่เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
เพื่อให้มีความหมายว่า แพทย์ทุกสาขาอาชีพที่มีกฎหมายรองรับและผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนตาม กฏหมายแล้วย่อมต้องมีความปลอดภัยสามารถใช้และจ่ายยาสารสกัดกัญชาที่ปลูกในประเทศ แม้มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol,THC) เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักได้โดยไม่เป็นยาเสพติด ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการรักษาที่มีอยู่ในประเทศไทย และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 2(3)(ก) ให้ครอบคลุมเพิ่มเติมมากขึ้นรวมถึงการใช้ช่อดอก ยาง หรือสารสกัดที่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ขั้น 1 ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5
"หลักการสำคัญ คือ คุ้มครองคนที่ทำถูกกฎหมายทุกคน รวมทั้งผลิตภัณฑ์วิชาชีพการแพทย์ทุกชนิด ทั้งยังไม่มีการล็อกสเปกวิชาชีพและผู้ปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายสมุนไพรควบคุม ตราบใดที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ต้องไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญายาเสพติด
โดยหลังจากนี้การจะจ่ายยาที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงจะต้องมีใบจ่ายยาทางการแพทย์มาแสดงเท่านั้นและวิชาชีพที่สามารถจะใช้ได้ จะเกี่ยวข้องทางการแพทย์ เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพแผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพแผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านและผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ตามกฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ รวมถึงแพทย์แผนจีนด้วย" นายปานเทพ กล่าว
อย่างไรก็ดี หากมองเรื่องของกระบวนการและขั้นตอนที่จะดำเนินการนั้นมีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนรับเรื่องเนื่องจากนายสมศักดิ์ รมว.สธ. ติดประชุม ครม.ได้อธิบายขั้นตอนหลังรับหนังสือในครั้งนี้ว่า ร่างประกาศกระทรวงฯเรื่องกัญชาที่มีการเพิ่มเติมแก้ไขเข้ามานั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามสมควร และในส่วนของตนนั้นจะพิจารณาตรวจสอบว่า ข้อเสนอดังกล่าวนั้นขัดกับประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือไม่เนื่องจากศักดิ์ของกฎหมายไม่เท่ากัน ไม่สามารถที่จะดำเนินการขัดกับกฎหมายใหญ่ได้โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ระบุว่า เป็นยาเสพติดก็ต้องเป็นยาเสพติด ส่วนประเด็นที่ว่า เป็นแบบมีเงื่อนไขจะทำได้หรือไม่ก็ต้องพิจารณาเรื่องของข้อกฎหมายก่อน
เรื่องของ กัญชา ยังคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วบทสรุปจะออกมาอย่างไร