ภัยเงียบ โรคพาร์กินสันคุกคามผู้สูงวัย ผู้ชายเสี่ยงกว่าผู้หญิง 1.5 เท่า

13 ก.ค. 2567 | 05:00 น.
580

สถาบันประสาทวิทยา เปิดข้อมูล เผย ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคพาร์กินสันมากกว่าผู้หญิงถึง 1.5 เท่า พร้อมเผยสัญญาณเตือนที่คุณไม่ควรมองข้าม พร้อมวิธีรับมือที่อาจช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคพาร์กินสัน หรือ โรคสั่นสันนิบาต เป็นโรคทางระบบประสาทที่เกิดจากเซลล์สมองบางตำแหน่งมีภาวะเสื่อมและลดจำนวนลงโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้สารสื่อประสาทที่สร้างจากสมองส่วนนั้น ชื่อว่า "โดพามีน" (Dopamine) ลดลง โดยโดพามีน ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย

เมื่อขาดสารโดพามีนทำให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อเกร็ง และอาจสูญเสียการทรงตัว อาการเหล่านี้จะดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไปและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างช้า ๆ

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด หากได้รับการวินิจฉัยโรคและรับการดูแลตั้งแต่อาการยังไม่มากจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยลดความรุนแรงของอาการและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แพทย์หญิงทัศนีย์ ตันติฤทธศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า

สาเหตุของโรคพาร์กินสัน

เกิดจากความเสื่อมของกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองที่ไม่สามารถสร้างสารโดพามีน สำหรับสาเหตุที่ทำให้เซลล์สมองมีการเสื่อมหรือมีจำนวนลดลง สันนิษฐานว่า อาจเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือเกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การสัมผัสสารกำจัดวัชพืช เป็นต้น

หากมีอาการบ่งชี้ของโรคพาร์กินสันควรไปพบแพทย์ เพราะหากรู้เร็วและเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ไว การรักษาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาการแสดงของโรคอาจมีมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละรายขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุที่เริ่มมีอาการ ระยะเวลาของการเป็นโรค หรือการมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

โดยแต่ละอาการจะปรากฏแบบค่อยเป็นค่อยไปและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยอาการของโรคเกี่ยวข้องกับประสาทสั่งการเคลื่อนไหว

ยกตัวอย่างเช่น อาการสั่น ผู้ป่วยส่วนมากเริ่มมีอาการสั่นที่นิ้วมือหรือมือก่อน โดยในระยะแรกอาการมักเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว และเมื่อโรคเป็นนานมากขึ้นอาการสั่นจะลามมาอีกครึ่งซีกของร่างกาย มักพบอาการเคลื่อนไหวช้าร่วมกับอาการสั่นในบริเวณเดียวกันของร่างกาย

การรักษาโรคพาร์กินสัน

1.การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาหลักโดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นและระยะกลางของโรค ช่วยบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

2.การรักษาด้วยกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้เคลื่อนไหวได้ดีมากขึ้นและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา เช่น การพูด การกลืน เป็นต้น

3.การรักษาด้วยการผ่าตัด พิจารณาในกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน จึงไม่มีวิธีการป้องกันโรคได้ 100%

อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการรับประทานผัก ผลไม้และธัญพืช หรือการออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคพาร์กินสันลงได้